ขอม คือ ชื่อทางวัฒนธรรม

…..สันนิษฐานว่า ขอม มาจากคำว่า ขะแมร์-กรอม (ที่แปลว่าใต้) เมื่อพูดเร็วๆ จึงกลายเป็น “ขอม” ขอมนั้นมิได้หมายถึงชนชาติทว่าเป็นชื่อทางวัฒนธรรม หมายถึง คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือศาสนาฮินดูหรือพุทธมหายานทางใต้ของแคว้นสุโขทัย อาจจะหมายถึง พวกละโว้ (ลพบุรี) เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่างๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่า ขอมคือ พวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนาในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนอธิบายไว้ว่าขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครที่เป็นฮินดู หรือพุทธมหายานเป็นได้ ชื่อว่า ขอมทั้งหมด
…..ซัวสเดยพนมเปญ
…..กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำสายมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำโขงตอนบน แม่น้ำโขงตอนล่าง แม่น้ำบาสสัก และแม่น้ำโตนเล จึงเป็นที่เรียกขานกันว่า เมืองจัตุรมุข
…..ครั้งหนึ่งเมืองจัตุรมุขแห่งนี้ เคยได้ชื่อว่า ไข่มุกแห่งเอเชีย ด้วยเป็นเมืองที่อาณานิคมฝรั่งเศสออกแบบก่อสร้างและวางผังเมืองไว้อย่างสวยงามที่สุดในอินโดจีนช่วงทศวรรษ 1920 โดยมีถนนสายกว้างตัดผ่านกันหลายสาย นอกจากเป็นศูนย์กลางการบริหารของประเทศแล้ว กรุงพนมเปญยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพนมเปญ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เปิดสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ พนมเปญยังเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชานอกเหนือจากเสียมเรียบ แลกำปงโสม (สีหนุวิลล์) ด้วย
…..หลังถูกทัพสยามตีแตกในปี ค.ศ. 1353 กษัตริย์เขมรองค์ต่างๆ ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง กว่าจะสถาปนากรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงอย่างถาวรในปี ค.ศ. 1866 นับจากนั้นเป็นต้นมา พนมเปญก็ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ตั้งแต่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเป็นอาณานิคม มาจนถึงยุคของเขมรแดงที่กวาดต้อนชาวพนมเปญออกไปทำไร่ทำนาตามท้องถิ่นชนบท จนเมืองหลวงแห่งนี้โล่งร้าง แต่ก็มีสถานที่สำคัญหลายแห่งในพนมเปญที่รัฐบาลพอล พต ฝาเรื่องราว ไว้ให้เป็นมรดกสำหรับการท่องเที่ยว เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่อุบัติขึ้นในครั้งนั้น
…..ความงดงามของพนมเปญคือ เคหสถาน อาคารที่ทำการราชการและอาคารพาณิชย์ที่ประดุจกระจกสะท้อนสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมหรือที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นร้านอาหารแบบคลาสสิก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ย่านใจกลางเมืองบนถนนสายหลักจะเป็นคฤหาสน์หลังโต ที่มีรั้วรอบขอบชิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของผู้มีตำแหน่งในรัฐบาลหรือนักธุรกิจ ขณะที่ในซอยเล็กๆ ไม่ไกลกันจะมีประชาชนอยู่อย่างแออัดในบ้าน หลังเล็กๆ ขัดแย้งกับภาพที่เห็นบนถนนสายหลักโดยสิ้นเชิง
…..นอกจากนี้ในพนมเปญยังประกอบด้วยตลาด 2 แห่งที่น่าสนใจแห่งแรก คือ ตลาดใหม่ หรือตลาดพาซาร์ธเมย เป็นอาคารทรงกลมกว้างใหญ่แบบอาร์ตเดโก มีเพดานสูง อาคารมีปีก 4 ด้าน สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1937 สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จำหน่ายสินค้าสารพัดชนิด อีกตลาดหนึ่ง คือ ตลาดรัสเซีย หรือตลาดพะซาตวลตมปูง แหล่งรวมของเก่าทั้งของแท้และเทียม ผ้าไหมของเขมร เครื่องเคลือบจากเวียดนาม รวมถึงเฟอร์นิเจอร์เลียนแบบของเก่าราคาค่อนข้างถูก
…..หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าอาคารในพนมเปญเริ่มเพิ่มความสูงขึ้นเรื่อยๆ บ้านเรือนแบบสมัยใหม่ผุดขึ้นแทนที่ของเก่า ทั้งนี้เป็นไปตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา

บทความอื่นๆ