ปราสาทนครวัด

รูปแบบศิลปะ : นครวัด ปีที่สร้าง : พ.ศ. 1656 สมัย : พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ช่วงเวลาควรไป : ก่อน 6 โมงเช้า เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นหลังหมู่ปราสาท และหลังบ่าย 3 โมง
ที่ตั้ง : ห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบ 4 กิโลเมตร
…..หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ซึ่งสร้างขึ้นในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17 เพื่ออุทิศถวาย แด่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เทพเจาสูงสุดแห่งลัทธิไวษณพนิกาย ปรากฏชื่อปราสาทในจารึกว่า “พระพิษณุโลกหรือวิษณุโลก” ส่วนชื่อ นครวัดเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง นครวัดเป็นปราสาทแห่งเดียวในเมืองพระนครที่สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บรรดาทัวร์นครวัดทั้งหลายจึงมักพาไปชมนครวัดในเวลาบ่าย เพื่อให้แสงจากทิศตะวันตกส่องกระทบด้านหน้าปราสาทเต็มที่ เป็นบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการถ่ายรูป
มหาปราสาทนครวัด มองจากทิศตะวันตก
…..การนำชมนี้จะแบ่งบริเวณที่น่าสนใจเป็นห้าจุด ได้แก่
…..- บริเวณโคปุระกลางที่กำแพงชั้นนอก
…..- ระเบียงคดชั้นแรก : ชมภาพแกะสลักยาวที่สุดในโลก
…..- มุขกระสัน เชื่อมระเบียงคดชั้นแรกและชั้นที่ 2
…..- ระเบียงคดชั้นที่ 2 : ชมนางอัปสรา
…..- ระเบียงคดชั้นที่ 3 : สู่ที่ประทับของเทพ
…..นครวัดมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างราว 1,300 เมตร และ ยาวราว 1,500 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดถึง 1.9 ล้านตารางเมตร มีบารายหรือคูน้ำขนาดกว้าง 190 เมตร ยาวด้านละ 1,900 เมตร ล้อมรอบ ทั้งสี่ด้าน ทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทางเข้าด้านหน้ามีสะพานนาคข้ามบาราย ทอดตรงเข้าไปสู่ตัวปราสาท เมื่อข้ามบารายไปแล้ว จะพบกำแพงชั้นนอกสุด ล้อมรอบตัวปราสาท มีซุ้มประตูหรือเรียกว่าโคปุระอยู่ด้านหน้า

บริเวณโคปุระกลางที่กำแพงชั้นนอก
…..เมื่อเดินเข้าไปในโคปะรุ ก่อนจะมุ่งตรงสู่ตัวปราสาทตามทางเดินหินขนาดใหญ่เบื้องหน้า มีสิ่งน่าชมก่อนในบริเวณนี้ คือ
…..เทวรูปแปดกร
…..อยู่ทางด้านขวาของโคปุระ ประดิษฐานเทวรูปขนาดใหญ่ราวสองเท่าตัวคน แต่เดิมเชื่อว่า เป็นเทวรูปพระวิษณุหรือพระนารายณ์ แต่ปัจจุบันนักวิชาการลงความเห็นว่า น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร เพราะเป็นศิลปะแบบบายอน อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคหลังจากสร้างนครวัด ทั้งยังมีแปดกร และบนพระเศียรมีร่องรอยแกะสลักสัญลักษณ์
พระอามิตาภะพุทธประดับอยู่
…..อัปสราเผยยิ้ม
…..ออกจากโคปุระชั้นแรกเดินไปด้านขวาตามขอบหินที่มุมผนังจะพบนางอัปสราสวมมงกุฎ และเครื่องทรงตามแบบศิลปะนครวัด ลักษณะต่างจากอัปสราตนอื่นทั้งหมด เพราะเผยยิ้มเต็มหน้า มองเห็นฟันจะแจ้ง เชื่อว่าเป็นอัปสราตนเดียวในนครวัดที่ยิ้มเห็นฟัน
…..สะพานนาค
…..คือทางเดินหินขนาดใหญ่มุ่งตรงไปยังตัวปราสาท เปรียบเหมือนสะพานสายรุ้งที่ทอดยาวไปสู่เขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อของฮินดู ผ่านบรรลัยที่ตั้งขนาบอยู่ทั้งสองด้าน ผ่านชานชาลารูปกากบาท ซึ่งมีพญานาคทอดตัวยาวขนาบไป และสระน้ำ ซึ่งเหลือน้ำอยู่เฉพาะสระด้านซ้ายมือ สุดทางเดินใหญ่นี้ จึงถึงตัวปราสาท ซึ่งตั้งบนฐานสูงสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงคดล้อมรอบตลอดผนังหินรอบระเบียงสลักลวดลายอย่างงดงาม

ระเบียงคดชั้นแรก : ชมภาพแกะสลักยาวที่สุดในโลก
…..ภาพแกะสลักนูนต่ำ (Bas-relief) ที่ระเบียงคดชั้นแรกของนครวัด เป็นสิ่งเลื่องชื่อที่สุดอย่างหนึ่งของกลุ่มปราสาททั้งหลายในเมืองพระนครก็ว่าได้ เอเตียง เอโมนิเยร์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้คำนวณพื้นที่ของระเบียงคดทั้งสี่ทิศที่มีการแกะสลักภาพ ว่ามีพื้นที่มากกว่า 1 ตารางกิโลเมตร ภาพส่วนใหญ่แกะขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 แต่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งสี่ด้าน เชื่อว่าส่วนที่เหลือมาแกะต่อในสมัยพระบาทองค์จัน กษัตริย์สมัยหลังเมืองพระนครแล้ว ภาพสลักนูนต่ำที่นครวัด นับเป็นระเบียงคดภาพยาวที่สุดในโลก สันนิษฐานว่าจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่ระเบียงคดวัดพระแก้ว ได้แบบอย่างมาจากที่นครวัดนี่เอง
…..วิธีเดินชมภาพที่ดี ควรเดินทวนเข็มนาฬิกา เริ่มจากระเบียงคดทิศตะวันตกหรือด้านหน้าของนครวัดก่อน แล้วเวียนไปทางทิศใต้ระเบียงคดแต่ละทิศมีปรางค์ประจำมุม และถูกแบ่งกลางด้วยโคปุระ ทำให้ระเบียงคดแต่ละทิศถูกแบ่งเป็นสองปีก

ระเบียงคดทิศตะวันตก ปีกด้านเหนือ ศึกลงกา
…..* ระเบียงคดทิศตะวันตกปีกด้านใต้ : การยุทธที่ทุ่งกุรุเกษตร
…..ระเบียงแรกสุดเป็นเรื่องการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร จากมหากาพย์เรื่องมหาภารตยุทธ ซึ่งเป็นที่ นับถือในหมู่ชาวฮินดู
…..ภาพสลักที่ระเบียงด้านนี้มีความยาว 49 เมตร เริ่มจากภาพกองทัพฝ่ายเการพทางด้านซ้ายของระเบียง ส่วนกองทัพฝ่ายปาณฑพเริ่มจากด้านขวา แล้วไล่มาบรรจบตรงกลางระเบียง ถึงเป็นจุดแตกหักของเรื่องและไฮไลต์ของภาพ เพราะเป็นการรบแบบตะลุมบอนประชิดตัวของทหารทั้งสองฝ่าย
…..ริมซ้ายด้านบนของระเบียงเป็นภาพการรบวันที่ 10 ภีษมะนอนตาย เพราะถูกยิงจนไม่มีที่ให้ ลูกธนูปักได้อีก แต่มีลูกธนูค้ำตัวภีษมะไว้อยู่ เนื่องจากภีษะมะได้รับพรจากเทพว่า หากตัวยังไม่ถึงพื้นดิน ก็จะไม่มีวันตาย อรชุนจึงช่วยยงธนูค้ำร่างภีษมะ
…..มหาภารตยุทธ ตอนการยุทธที่ทุ่งกุรุเกษตร
…..มหากาพย์เรื่องนี้เป็นบทกวีมีทั้งหมด 220,000 บรรทัด ว่าด้วยเรื่องราวของสงครามระหว่าง กษัตริย์เการพและกษัตริย์ปาณฑพ ซึ่งเป็นชาวอารยันด้วยกันทั้งสองฝ่ายและเป็นญาติกันด้วย ฉากสำคัญที่สุดอยู่ในตอนการรบที่กองทัพทั้งสองเผชิญหนากันที่ทุ่งกุรุเกษตร ฝ่ายเการพมีภีษมะเป็นแม่ทัด ฝ่ายปาณฑพมีอรชุนเป็นแม่ทัพ เมื่อถึงคราวต้องชักรถศึกเข้าสมรภูมิ อรชุนเกิดใจอ่อน ไม่อยากเห็นการฆ่าฟัน ระหว่างญาติพี่น้อง กฤษณะซึ่งเป็นอวตารปางที่ 9 ของพระวิษณุ และทำหน้าที่สารถีให้อรชุน ได้พูดกระตุ้นให้อรชุนเข้าใจเรื่องราวของชีวิต หน้าที่ และการดำรงอยู่ จนอรชุนฮึกเหิมยอมเข้าสู่ สนามรบ
…..คำสอนของกฤษณะที่ให้กับอรชุนนี้ เรียกว่า “คัมภีร์ภควัทคีตา” ถือเป็นหัวใจของมหากาพย์เรื่องนี้ และนับเป็นสุดยอดของปรัชญาฮินดู ภควัทคีตา แปลว่า “บทเพลงแห่งพระเจ้า” ใจความสำคัญกล่าวถึงหลักสุญตา ซึ่งเป็นสิ่งจริงแท้ทั่วจักรวาล ได้แก่ ความว่างจากสมมติหรือความไม่มี และความ สัมพันธ์ของชีวิตกับพระเป็นเจ้า
…..การรบที่ทุ่งกุรุเกษตรดำเนินไป 18 วัน จบที่การพ่ายแพ้ของฝ่ายเการพ แต่ฝ่ายปาณฑพก็ สูญสิ้นหมดเช่นกัน เหลือเพียงพี่น้องปาณฑพและกฤษณะตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ หลังการศึกครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของกลียุคหรือยุคปัจจุบันด้วย เพื่อให้โอกาสภีษมะสั่งเสียก่อนตาย ภีษมะได้สธยายคัมภีร์ “ราชศาสตร์” ให้กับลูกทัพฝ่ายตน ถือว่าเป็นคัมภีร์แรกของศาสตร์ที่ว่าด้วยการเมืองการปกครองและการทหาร
…..ตรงกลางที่เป็นศูนย์กลางของสมรภูมิ มีภาพสำคัญที่สุดคือ ภาพรถม้าของอรชุน แม่ทัพฝ่ายปาณฑพกำลังน้าวคันศรอย่างองอาจบนรถศึก โดยมีกษณะเป็นสารถี ในภาพนี้จะเห็นกฤษณะมีสี่กร อันแสดงว่าเป็นอวตารของพระวิษณุ
…..ภาพสลักที่ระเบียงด้านนี้ของนครวัด ได้รับยกย่องว่ามีความประณีตงดงามที่สุดในบรรดาภาพสลักบนระเบียงทั้งหมดของนครวัด
…..* ปรางค์ทิศตะวันตกมุมด้านใต้ : ภาพอวตารของพระวิษณุ
…..เป็นภาพสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพระวิษณุในอวตารสำคัญ คือ กฤษาวตารและรามาวตาร ภาพที่สำคัญ ได้แก่
…..- ภาพทศกัณฐ์โยกเขาไกรลาสขณะที่พระศิวะกับพระอุมากำลังประทับอยู่ในพลับพลา บนเขา
…..- ภาพกามเทพแผลงศรใส่พระศิวะ ทำให้พระศิวะตกใจลืมตาที่ 3 ขึ้นมาเผากามเทพจนไหม้หมด จนพระกฤษณะต้องมาชุบชีวิตขึ้นมาใหม่
…..- ภาพสุครีพรบพาลี จนถึงตอน พาลีถูกศรพระรามสังหาร
…..* ระเบียงคดทิศใต้ปีกด้านตะวันตก : ระเบียงประวัติศาสตร์/กองทัพเสียมกุก
…..ภาพสลักบนระเบียงคดนี้เป็นการสรรเสริญพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัดโดยตรง เพราะเป็นภาพกระบวนทัพอันเกรียงไกรของพระองค์ จัดทัพตามแบบโบราณที่ยิ่งใหญ่มาก มีความยาว ของภาพถึง 94 เมตร โดยเริ่มจากริมซ้ายสุดเป็นภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ประทับอยู่บนยอดเขาศิวบาท ภายใต้ฉัตรฉลองพระเกียรติ 14 คัน และบังสูรย์ห้าคัน อยู่ท่ามกลางข้าราชบริพารและรับการถวายสักการะจากทหารทั้งหลาย ดั่งจอมทัพที่กำลังตรวจพลสวนสนามและรับความเคารพ ก่อนอวยชัยให้พรแก่ทหารที่กำลังจะไปออกรบ สันนิษฐานว่า เป็นภาพเหตุการณ์ก่อนที่กองทัพของพระองค์จะยกไปทำสงครามกับอาณาจักรจามหรืออาณาจักรไดเวียด ในภาพนี้จะสังเกตว่า ใครตำแหน่งใหญ่กว่า ใครได้จากจำนวนฉัตรและบังสูรย์ที่ประดับอยู่
…..จุดน่าสนใจในภาพคือ กองทัพต่างๆ ที่มาร่วมในกระบวนทัพของพระองค์นั้น เชื่อว่ามาจากประเทศราชหรือพันธมิตรของอาณาจักรเขมรโบราณในยุคนั้นด้วย เพราะมีคำจารึกในภาษาเขมรโบราณไว้ทุกกองทัพ เช่น ทัพที่ 12 (ช้างตัวที่ 12) เป็นกองทัพเมืองละโว้ ซึ่งน่าจะหมายถึง ลพบุรี นำทัพมาโดยเจ้าชายชัยสิงหวรมัน มีจารึกสลักไว้ว่า “วร กมรเตง อัญ ศรีชัยสิงหวรรมน กํลุง ไพร นำพล โลว” จิตร ภูมิศักดิ์ แปลว่า “พระกัมรเตง อัญ ศรีชยสิงหวรรมัน ในป่า นำพล ละโว้”
…..ส่วนกองทัพสุดท้ายเป็นภาพกองทัพที่ดูไม่เป็นระเบียบ แม่ทัพสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแปลกประหลาดผิดกับกองทัพอื่นๆ เคยมีจารึกอยู่สองตำแหน่ง ที่แรกอยู่ตรงต้นไม้ด้านหลังของแม่ทัพบนหลังช้าง มีจารึกสั้นๆ ว่า “เนะ สยำ กุก” จิตร ภูมิศักดิ์ ตีความไว้เมื่อกว่า 40 ปี ที่แล้วว่า “นี้ เสียมกุก” และสันนิษฐานว่า เป็นกองทัพของชาวสยามจากลุ่มน้ำกก ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แปลว่า “เสียมกุฏ” หรือห้องสยาม นักวิชาการฝรั่งเศสตีความว่า เป็นทหารรับจ้างชาวป่าจากแดนสยาม ปัจจุบันรอยสลักนี้ถูกกะเทาะออกไป คาดว่า น่าจะถูกทำลายไปในระหว่างสงครามเมื่อราว 20 ปีมาแล้ว
…..จารึกที่ 2 อยู่ตรงกองทหารม้านำหน้าของกองทัพเสียมกุก มีจารึกเขียนไว้ว่า “อนัก ราชการยย ภาค ปมญ เชง ฌาล ด นำ สยำ กุก” จิตร แปลประโยกนี้ว่า “ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก” ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์ไทยหลายท่านตีความว่า กองทัพเสียมกุกนี้น่าจะหมายถึงทัพของขุนเจื่องแห่งอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ในดินแดนล้านนาทางภาคเหนือของไทย
…..ภาพบนระเบียงประวัติศาสตร์นี้ เป็นการแกะสลักที่มีชีวิตชีวามาก มีลูกเล่นของช่างหลายจุด เช่น กองทหารที่หันมาพูดคุยกัน หรือภาพช้างบางตัวที่กำลังสะบัดหัวไล่แมลง
…..* ระเบียงทิศคดทิศใต้ปีกด้านตะวันออก : ภาคแดนสวรรค์-ขุมนรก
…..ระเบียงภาพนี้ ยาว 66 เมตร แบ่งภาพเป็นสามชั้น คือ สวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ภาพสำคัญ คือ ภาพพญายมประทับนั่งท่ามหาราชลีลาสนะบนหลังควายชื่อมหิงสา พระยมมี 18 กร มือถือ คทาเป็นอาวุธครบทุกกร กำลังพิพากษาความดีความชั่วของมนุษย์ ข้างๆ มีพระจิตคุปต์และพระธรรม
เลขาและสมุห์บัญชีประจำตัวของพญายม คอยรายงานกรรมดีและชั่วของแต่ละคน นรกที่ระเบียงคดนครวัดมีทั้งหมด 32 ขุม ทางลงนรกเป็นปล่องที่คนบาปจะถูกโยนหัวทิ่มลงมา มีจารึกระบุชื่อขุม เช่น ขุมอเวจี เป็นขุมลึกที่สุดและทารุณที่สุด ส่วนโทษการฆ่าคนตายหรือฉ้อโกงคนอื่น ต้องตกนรก
ขุมกริมินิจัยหรือขุมที่เต็มไปด้วยหนอน
…..ตรงกันข้ามที่ภาพชั้นบน เป็นภาพสวรรค์ทั้ง 37 แดน เป็นภาพวิมานมีครุฑแบกไว้ คนมีบุญ ต่างใช้ชีวิตสุขสบาย แวดล้อมด้วยนางสนม กำนัล สวรรค์เหล่านี้สังเกตได้ง่าย โดยไม่ต้องมีจารึกกำกับไว้

…..* ระเบียงคดทิศตะวันออกปีกด้านใต้ : ตำนานการกวนเกษียรสมุทร
…..ผนังนี้มีความยาวราว 50 เมตร เป็นเรื่องราวจากคัมภีร์ภควัตปุราณะ ว่าด้วยพิธีกวนเกษียรสมุทร ตรงกลางภาพเป็นรูปพระวิษณุนั่งอยู่บนเขามันทระ ซึ่งมีพญานาควาสุการีพันรอบเขา
หัวนาคอยู่ทางซ้ายมีอสูรฉุดอยู่ 92 ตน หางนาคมีเทวดาฉุด 88 องค์ ด้านล่างมีเต่ายักษ์หนุนเขามันทระอยู่ เต่าตัวนี้คือ อวตารของพระวิษณุที่เรียกว่า “กูรมาวตาร” (กุรมะเต่า)
…..การกวนเกษียรสมุทร
…..เรื่องราวการกวนเกษียรสมุทรเกิดจากสงครามระหว่างอสูรกับเทพ ที่ฝ่ายเทพมักพ่ายแพ้
อยู่บ่อยๆ จนต้องให้พระวิษณุช่วย พระวิษณุจึงให้ทำพิธีกวนน้ำอมฤตนำมาดื่ม เพื่อให้เป็นอมตะ ซึ่งพิธีนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้พวกอสูรร่วมมือด้วย โดยตกลงว่าจะแบ่งน้ำอมฤตให้ อสูรกับเทพจึงหยุดรบกันชั่วคราว แล้วพระวิษณุก็เอาภูเขามันทระซึ่งสูง 11,000 โยชน์ และลึกลงไปใต้ดินอีก 11,000 โยชน์ มาเป็นแกนในการกวนน้ำในมหาสมุทรกลศะ แล้วใช้พญานาควาสุกรีพันรอบภูเขาเป็นเชือกให้เหล่าเทพ ดึงข้างหนึ่ง อสูรดึงอีกข้างหนึ่ง
…..พวกเทพฉลาดจึงเลือกดึงทางหางนาค ปลายหางจะเห็นสุครีพ (สังเกตว่าสวมมงกุฎด้วย) ขนาดยักษ์ลงมาช่วยฝ่ายเทพด้วย ส่วนอสูรต้องไปดึงทางหัวนาคมีทศกัณฐ์เป็นแม่ทัพอยู่หัวแถว ระหว่างกวนมหาสมุทรก็เกิดสั่นสะเทือนไปถึงสามโลก ภูเขามันทระค่อยๆ จมลงในมหาสมุทร เนื่องจากมีอสูรมัจฉามาแทะแผ่นดินเพื่อเปิดทางให้น้ำอมฤตไหลทะลักสู่โลกมนุษย์ พระวิษณุจึงอวตารลงมาเป็น
เต่ายักษ์ปราบอสูรมัจฉา แล้วไปหนุนเขามันทระไม่ให้ทะลุ เพราะโลกอาจจะแตกสลายได้
…..พิธีกวนน้ำอมฤตใช้เวลานับพันปี จนจระเข้ ปลา และสัตว์ต่างๆ ในมหาสมุทร ฉีกขาดเป็นชิ้นๆ พญานาควาสุกรีทนไม่ไหว จึงสำรอกพิษร้ายที่เรียกว่า “หาลาหล” ออกมา โดนพวกอสูรที่ฉุดอยู่ทางหัวตายไปมากมาย ฟองหาลาหลกระจายทั่วมหาสมุทร พระพรหมจึงไปขอร้องให้พระศิวะช่วย พระองค์ได้ปรากฏกายขึ้นมาดูดพิษร้ายทั้งหมดไว้ในตัว พิษนั้นได้เผาไหม้คอของพระศิวะจนเป็นสีดำสนิท พระองค์จึงได้ชื่อว่า “นิลกัณฐ์” ตั้งแต่นั้นมา
…..ครั้นกวนไปเรื่อยๆ น้ำในมหาสมุทรกลศะก็ข้นขึ้นเหมือนน้ำนม จึงเรียกว่า “เกษียรสมุทร” (มหาสมุทรน้ำนม) และมีสิ่งต่างๆ อุบัติขึ้นมากมาย ได้แก่
…..- พระนางลักษมี เทพีแห่งความงาม ซึ่งพระวิษณุนำไปเป็นชายา
…..- ช้างเอราวัณ พระอินทร์เอาไปเป็นพาหนะ
…..- ม้าขาวอุจไจศรวัส พระอาทิตย์เอาไปเป็นพาหนะประจำรถทรง
…..- โคเพศเมีย ชื่อกามเธนุ (แปลว่าโคนมอันพึงปรารถนา) เป็นแม่ของโคอศุภราช พาหนะ ของพระอิศวร
…..- พระโสมะ หรือพระจันทร์ (บางตำนานบอกว่าโสมะที่เกิดขึ้นนั้น เป็นน้ำเมาชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นพร้อมกับเมรัยชนิดอื่นๆ ตอนกวนเกษียรสมุทร)
…..- นางวารุณี เทพีแห่งเมรัย
…..- พระจันทร์เสี้ยว (คนละอย่างกับโสมะ) พระศิวะเอามาทัดเป็นปิ่น
…..- เกาสตุภะมณี พระนารายณ์นำมาประดับพระอุระ
…..- ต้นไม้ทิพย์ต่างๆ ได้แก่ ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นปาริชาต และที่สำคัญ คือ
…..- นางอัปสร จำนวน 35 ล้านตน ที่ลอยร่ายรำอยู่ด้านบน เหมือนอวยชัยให้พรกับการทำพิธีนี้ อัปสรแปลตามศัพท์หมายถึง ผู้ถือกำเนิดจากน้ำ หรือผู้แหวกว่ายในน้ำ รัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติว่า “นางผู้กระดิกในน้ำ” หรือแปลว่า น้ำแห่งความรักก็ได้
…..เมื่อได้น้ำอมฤตแล้ว ฝ่ายเทพไม่ต้องการให้พวกอสูรได้ดื่ม พระวิษณุจึงออกอุบายแปลงเป็นนางฟ้าชื่อ “โมหิณี” (ความลุ่มหลง) หลอกล่อให้เหล่าอสูรสนใจแทน พวกเทพได้โอกาสรีบดื่มน้ำอมฤตทันที แต่เมื่ออสูรราหูตนเดียวที่ไม่สนใจนางฟ้าจำแลง กลับแอบปลอมเป็นเทพไปต่อแถวรอดื่มน้ำอมฤตด้วย พระจันทร์และพระอาทิตย์ไปเห็นเข้าจึงฟ้องพระวิษณุ พระองค์จึงขว้างจักร “สุทรรศนะ” ไปตัดร่างราหูขาดเป็นสองท่อน แต่น้ำอมฤตที่ราหูดื่มไปแล้ว ไหลลงถึงท้องพอดี ทำให้ท่อนบนของราหูกลายเป็นอมตะ ส่วนท่อนล่างกลายเป็นอสุรกายชื่อ เกตุหรือดาวเกตุ ด้วยความแค้นพระจันทร์และพระอาทิตย์ ราหูจึงชอบดักจับพระจันทร์กับพระอาทิตย์กินอยู่บ่อยๆ แต่ว่าร่างกายมีครึ่งเดียว กลืนพระจันทร์ไป ไม่นานก็หลุดออกทางท้อง เป็นตำนานการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา
…..สิ่งสำคัญที่ไม่ปรากฏในภาพการกวนเกษียรสมุทรที่นครวัดก็คือ พระศรีอุมา ชายาของ พระศิวะ และคนโทใส่น้ำอมฤต ซึ่งถือโดยธนวันตริ เทพแห่งการแพทย์
…..* ระเบียงคดทิศตะวันออกปีกด้านเหนือ : ชัยชนะของพระวิษณุเหนือเหล่าอสูร
…..ผนังภาพชุดนี้ยาว 52 เมตร จากการแปลจารึกโดย ศ. ยอร์ช เซเดส์ ทำให้ทราบว่าระเบียงคดด้านนี้ได้แกะร่างไว้ตั้งแต่สมัยสร้างนครวัด แต่แกะไม่เสร็จ จนมาสมัยหลังเมืองพระนคร พระบาท องค์จันได้โปรดให้ช่างหลวงแกะ ต่อมาแล้วเสร็จในสมัยพระบรมราชาที่ 1 ในพ.ศ. 2106 ภาพแกะด้านนี้มีความละเอียดประณีตน้อยกว่าระเบียงที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า เป็นฝีมือของช่างต่างยุคกัน
…..จุดสำคัญของภาพที่น่าสนใจอยู่ตรงกลางระเบียงคด เป็นภาพพระวิษณุทรงครุฑกำลังหยิบ ลูกธนูเตรียมแผลงศรใส่ทัพอสูรที่โจมตีเข้ามาทั้งสองด้าน ซึ่ง ศ. ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องพระวิษณุมีชัยเหนือเหล่าอสูรทั้งสี่ คือ มุรุ นิสุนทะ หัยครีพ และปัญจันทะ ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเมืองปรากชโยทิศ อันเป็นเมืองอสูรตามคัมภีร์หริวงศ์
…..* ระเบียงคดทิศเหนือปีกด้านตะวันออก : พระกฤษณะปราบพาณาสูร
…..ผนังด้านนี้ยาว 66 เมตร จารึกเรื่องตามคัมภีร์หริวงศ์ ว่าด้วยเรื่องพระกฤษณะรบกับพาณาสูร ซึ่งเป็นอสูรเจ้ากรุงพาณ และเป็นสาวกสนิทของพระศิวะ ศึกครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะท้าวพาณาสูรจับตัว พระอนิรุทธ์หลานของพระกฤษณะไปขังไว้ เพราะโกรธที่พระอนิรุทธ์แอบลักลอบได้เสียกับลูกสาวของตน พระกฤษณะจึงยกทัพมารบกับท้าวพาณาสูร เพื่อช่วยหลานชาย
…..ภาพสลักเริ่มจากซ้ายไปขวา จุดเด่นกลางภาพคือ ภาพพระกฤษณะสำแดงตนเป็นองค์ พระวิษณุ มีสี่พักตร์ แปดกร อยู่บนหลังพญาครุฑ แผลงศรใส่พาณาสูรผู้มีมือถึงพันมือขาด จนเหลือแค่สองมือ ริมขวาของภาพจะเห็นพระศิวะปรากฏกายออกมาขอชีวิตพาณาสูร และมีภาพพระกฤษณะพนมมือไหว้พระศิวะ เป็นการแสดงความเคารพ และถวายชีวิตพาณาสูรให้กับพระศิวะ
…..ศ. บวสเซอลิเยร์ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะเขมรชาวฝรั่งเศส สันนิษฐานว่าภาพบนระเบียงคดด้านนี้ น่าจะแกะในสมัยพระบาทองค์จันเช่นเดียวกัน เพราะฝีมือค่อนข้างหยาบ ยกเว้นรูปพระวิษณุทรงครุฑเท่านั้นที่ค่อนข้างประณีต จึงเชื่อว่าเป็นการแกะตามร่างเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยเมืองพระนคร และน่าจะได้รับอิทธิพลของศิลปะอยุธยาและจีนที่แผ่เข้ามาในเขมรบ้างแล้ว ดังภาพพระศิวะมีหน้าตาค่อนไปทางจีน อาวุธซึ่งควรเป็นจักรก็กลายเป็นกระบี่ไป ทั้งยังพบการแกะลายเปลวไฟแบบจีน จึงเชื่อว่า อาจมีช่างแกะชาวจีนร่วมในการแกะสลักภาพที่ระเบียงคดด้านนี้ด้วย
…..* ระเบียงคดทิศเหนือปีกด้านตะวันตก : เทวาสุรสงคราม
…..ระเบียงภาพนี้บางคนเรียกว่าเรื่องพระวิษณุปราบอสูรกาลเนมิบ้าง หรือศึกเทวดาและอสูรบ้าง มีความยาว 94 เมตร ด้านซ้ายเป็นกองทัพฝ่ายเทพ ด้านขวาเป็นกองทัพฝ่ายอสูร มีพระวิษณุทรงครุฑ ปรากฏอยู่กลางภาพ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ยกย่องว่าเป็นหลักฐานที่หาค่ามิได้ เพราะแสดงถึงรูปร่างลักษณะ เครื่องทรง อาวุธ และพาหนะของเทพองค์สำคัญๆ ในศาสนาฮินดูไว้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์ พระเวท โดยกองทัพของเทพที่มาชุมนุมกันช่วยพระวิษณุครั้งนี้มีถึง 21 กองทัพ อย่างไรก็ตาม เทพหลายองค์ที่ปรากฏในภาพยังยากแก่การระบุชัดเจนได้ว่าเป็นเทพองค์ใด เทพที่พอระบุได้มีดังนี้
…..- ท้าวกุเวร เทพแห่งความมั่นคั่ง ขี่บ่ายักษ์สกันธเป็นพาหนะ
…..- พระอัคนี ทรงราชรถเทียมแรด
…..- พระขันธกุมาร เทพแห่งสงคราม มีหกเศียร 20 กร ขี่นกยูงเป็นพาหนะ
…..- พระอินทร์ ทรงช้างเอราวัณ (สังเกตว่ามีสี่งา)
…..- พระยม เทพแห่งความตาย ทรงราชรถเทียมควาย
…..- พระศิวะ ทรงราชรถเทียมโค (สังเกตวาเป็นโคตัวผู้ มีหนอกชัดเจน)
…..- พระพรหม ทรงหงส์
…..- พระอาทิตย์ ทรงราชรถเทียมม้าสี่ตัว มีพระอรุณซึ่งเป็นคนครึ่งนกเป็นสารถี
…..- พระวรุณ เทพสมุทร ทรงนาคหรือทรงหงส์เป็นพาหนะ
ส่วนอสูรกาลเนมิปรากฏกายบนรถศึกเทียมม้า มีเก้าเศียร 30 กร กำลังแผลงศรสู้กับพระวิษณุเช่นกัน
…..* ปรางค์ทิศตะวันตกมุมด้านเหนือ : ภาพอวตารของพระวิษณุ
…..เป็นเรื่องเกี่ยวกับอวตารครั้งสำคัญสองครั้งของพระวิษณุ เช่นเดียวกับปรางค์ทิศตะวันตกมุมด้านใต้ หลายภาพชำรุดเพราะโดนฝนที่รั่วลงมาเซาะจนแยกแยะรายละเอียดยาก ภาพสำคัญในปรางค์นี้ คือภาพพระกฤษณะฉลองชัยที่มีต่ออสูรนารกะที่ยึดครองภูเขามณีบรรพตไว้ พระกฤษณะมีสี่พักตร์ แปดกร อาวุธครบกร ยืนเหยียบไหล่พญาครุฑซึ่งแบกพระศรี ชายาของพระกฤษณะไว้ที่มือซ้าย และแบกภูเขามณีบรรพตไว้ที่มือขวา ภาพสำคัญอีกภาพคือ ภาพตอนที่เทพประจำทิศทั้งแปดองค์ไปอัญเชิญพระวิษณุให้ทรงอวตารมาเป็นพระราม
…..* ระเบียงคดทิศตะวันตกปีกด้านเหนือ : ศึกลงกา
…..เป็นผนังภาพสุดท้ายของการเดินชม มีความยาว 50 เมตร เป็นตอนท้ายเรื่องของมหากาพย์ รามายณะบุกเข้ากรุงลงกา และทศกัณฐ์ยกทัพออกมารบ ภาพสลักชุดนี้มีความละเอียดประณีตและซับซ้อนไม่แพ้ภาพการยุทธที่ทุ่งกุรุเกษตร ภาพดูชุลมุนวุ่นวายจากกองทัพยักษ์และลิงที่รบกันถึงขั้น ตะลุมบอน เท้าถีบ ปากกัด ดูสนุกสนานมีชีวิตชีวามาก แต่จุดสำคัญที่สุดอยู่ตอนกลางของภาพคือ ภาพพระรามยืนบนหลังสุกครีพ กำลังแผลงศรใส่ทศกัณฐ์บนรถศึก นอกจากนี้ยังมีภาพการต่อสู้ระหว่างแม่ทัพยักษ์กับขุนพลลิงที่สำคัญ ตามลำดับภาพจากซ้ายไปขวา ได้แก่ ประหัสตะสู้กับนิลนนท์ มโหธรขี่ช้างเอราวัณสู้กับองคต คงคตท้าทายนรานตกะ หนุมานสู้กับนิกุมภะ และสุดท้ายสุครีพสู้กับกุมภะผู้มีธนูไฟเป็นอาวุธ
…..มีข้อสังเกตว่าหลายจุดของภาพระเบียงคดด้านนี้ มีรอยคราบสีแดงติดอยู่ โดยเฉพาะที่ตัวละครสำคัญ คราบสีแดงนี้ เป็นร่องรอยของการลงรักแดงเพื่อปิดทองทับลงไป เรียกว่า “ปิดทอง ล่องชาด” เชื่อว่าเป็นประเพณีนิยมของชาวเขมรในยุคหลัง เมื่อนครวัดกลายเป็นพุทธสถานแล้ว

มุขกระสันเชื่อมระเบียงคดชั้นแรก และชั้นที่ 2
…..จากระเบียงคดชั้นล่างมีบันไดขึ้นสู่มุขกระสันสามช่องทาง
…..* ห้องพระพัน
…..อยู่ช่องขวาสุด มีพระพุทธรูปและเทวรูปองค์ใหญ่ๆ ตั้งไว้หลายองค์ ปัจจุบันมีผู้นำดอกไม้ ธูปเทียนมาจำหน่ายให้ผู้ที่ต้องการทำบุญด้วย ห้องพระพันหรือห้องพระพันองค์นี้ เป็นชื่อที่เรียกกันมานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ตามที่ปรากฏในจารึกนครวัด หลังจากนครวัดเปลี่ยนจาก เทวสถานฮินดูมาเป็นพุทธสถานแล้ว ชาวเขมรรุ่นหลังได้นำพระพุทธรูปมาตั้งเพื่อบูชาที่นี่เป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปมีมูลค่าจำพวกสำริด ทองเหลือง หรือทองคำ ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่พนมเปญ คงเหลือแต่เพียงพระพุทธรูปหินทรายเท่านั้น
…..* ห้องทุบอก
…..อยู่ช่องซ้ายสุด ให้เดินไปที่โคปุระกลาง แล้วยืนพิงหลังกับผนังหิน ลองทุบหรือตบหน้าอกตนเองเบาๆ จะได้ยินเสียงสะท้อนก้องกังวานดังอย่างชัดเจน เป็นความอัศจรรย์ที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ ของมหาปราสาทนครวัด จึงเรียกห้องหรือซุ้มประตูนี้ว่า “ห้องทุบอก”

…..ระเบียงคดชั้นที่ 2 : ชมนางอัปสรา
…..จากมุขกระสันมีบันไดขึ้นสู่โคปุระของระเบียงคดชั้นที่ 2 เมื่อผ่านโคปุระออกไปจะเป็นลานกว้าง มีบรรณาลัย (ห้องสมุด) อยู่สองด้านกลางลาน คือที่ตั้งของปรางค์ประธาน
…..ระเบียงอัปสรา
…..บนผนังของระเบียงคดชั้นนี้ มีรูปสลักนางอัปสราจำนวนมาก และหนาแน่นที่สุดในนครวัด มีผู้พยายามนับจำนวนอัปสราทั้งหมดในนครวัด พบว่า มีระหว่าง 1,600-1,700 ตน เหล่าอัปสราที่อยู่บนผนัง ระเบียงคด และโคปุระมีลักษณะหลากหลายไม่ช้ำแบบกันเลย แต่อัปสราที่ชั้นนี้แตกต่างจากชั้นอื่นมาก โดยเฉพาะทรงผมและเครื่องสูงประดับศีรษะ ซึ่งวิจิตรพิสดารมากกว่าชั้นอื่นที่ส่วนใหญ่มักสวมมงกุฎ บางคนตั้งข้อสังเกตว่า อัปสราชั้นนี้มีใบหน้าละม้ายคล้ายไปทางสาวจีนหรือญี่ปุ่นมากกว่าจะเป็นหญิงเขมรอย่างชั้นอื่น จึงไม่นิยมสวมมงกุฎ แต่ใช้วิธีผูกมัดจัดแต่งผมเป็นทรงต่างๆ แล้วตกแต่งด้วยเครื่องประดับแทน
…..ระเบียงคดชั้นบนสุด : สู่ที่ประทับของเทพ
…..ปัจจุบันองค์การอัปสรา ผู้ดูแลอุทยานประวัติศาสตร์เมืองพระนคร ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วๆ ไป ขึ้นชมระเบียงคดชั้นบนสุดนี้แล้ว ด้วยเกรงว่าอาจเกิดการพลัดตกลงมาได้
…..จากระเบียงคดชั้นที่ 2 สู่ชั้นบนสุด มีบันไดหินที่สูงและชันมาก มีทั้งหมด 12 ทาง บันไดด้านตะวันตกมีขั้นบันไดค่อนข้างกว้างกว่าด้านอื่น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นทางเสด็จสำหรับกษัตริย์เท่านั้น
…..ชั้นบนสุดนี้เรียกว่า ชั้น “บากาน” ประกอบด้วยปรางค์ทั้งหมดห้าองค์ มีปรางค์สี่องค์ประจำทิศสี่มุม และปรางค์องค์กลางที่เป็นปรางค์ประธาน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด สูง 65 เมตร มีระเบียงและมุขกระสันเชื่อมต่อกันหมด ตรงมุมระเบียงคดทั้งสี่มุม มีสระสี่สระ (ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว) โดยปรางค์ทิศทั้งสี่มุมหมายถึง ทวีปทั้งสี่ ส่วนสระน้ำหมายถึง มหาสมุทรที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งก็คือปรางค์องค์กลางนั่นเอง
…..ดังนั้นนครวัดจึงเป็นปราสาทที่จำลองแผนภูมิตามหลักจักรวาลวิทยาของศาสนาฮินดูได้อย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด ระเบียงคดชั้นบนสุดนี้ถือเป็นที่ประทับของเทพ สมัยก่อนผู้ที่จะขึ้นมาบนชั้นนี้ได้ มีเฉพาะกษัตริย์กับนักบวชสมณศักดิ์สูงเท่านั้น และเป็นบริเวณที่ทำพิธีสถาปนากษัตริย์ขึ้นเป็นเทพด้วย
…..แต่เดิมในปรางค์ประธานมีรูปพระวิษณุประดิษฐานอยู่ แต่เมื่อนครวัดเปลี่ยนมาเป็นพุทธสถาน จึงประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในซุ้มที่ฐานปรางค์ทั้งสี่ทิศแทน ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

บทความอื่นๆ