ปราสาทบายน

รูปแบบ : บายน ปีที่สร้าง : พ.ศ. 1724 สมัย : พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ช่วงเวลาควรไป : ก่อน 10 โมงเช้าเพื่อชมภาพสลักที่ระเบียงคดทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนองค์ปรางค์ทั้งหมดชมได้ตลอดวัน
ที่ตั้ง : ห่างจากปราสาทนครวัด 3.5 กิโลเมตร และห่างจากประตูนครธมด้านทิศใต้ 1.5 กิโลเมตร
…..”ข้าพเจ้าแหงนหน้าขึ้นไปยังปราสาทที่มีต้นไม้ปกคลุมอยู่ ซึ่งทำให้ตัวเองรู้สึกเหมือน คนแคระ และทันทีทันใด เลือดในตัวข้าพเจ้าก็เกิดเย็นแข็งขึ้นมา เมื่อมองเห็นรอยยิ้มขนาดมหึมา ที่กำลังมองลงมายังข้าพเจ้า แล้วก็รอยยิ้มซึ่งเหนือกำแพงอีกด้านหนึ่ง แล้วก็รอยยิ้มที่สาม ที่สี่ ที่ห้า แล้วก็ที่สิบ ปรากฏจากทุกสารทิศ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนมีตาคอยจองมองอยู่ทุกทิศทาง”
…..นี่คือข้อความในบันทึกของ ปิแอร์ โลตี นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามานครธมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2455 บรรยายภาพปราสาทบายอนที่ได้เห็นเป็นครั้งแรกไว้อย่างน่าตื่นเต้น
…..เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราบปรามและขับไล่พวกจามที่มายึดครองเมืองพระนครออกไปได้ จึงทรงสถาปนาพระนครหลวงขึ้นมาใหม่ ณ บริเวณเดิม เรียกกันในภายหลังว่า “นครธม” โดยสร้างประตูเมืองห้าประตู กับกำแพงเมืองยาวด้านละ 12 กิโลเมตรขึ้นมาใหม่ และโปรดให้สร้างปราสาทหลังใหม่ขึ้นมา เป็นศูนย์กลางของเมืองในราว พ.ศ. 1743 มีขนาดใหญ่และอลังการยิ่งกว่าปราสาทใดๆ ที่เคยสร้างมา จะเป็นรองก็คงแต่เพียงนครวัดเท่านั้น รู้จักกันภายหลังในชื่อปราสาทบายอน
…..แม้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะปวรารณาตนเป็นพุทธฝ่ายมหายาน แต่ปราสาทบายอนก็ยังสร้างขึ้นแทนภูเขาศูนย์กลางจักรวาล หรือเขาพระสุเมรุนั่นเอง ปราสาทบายอนเป็นปราสาทแห่งเดียวที่ไม่มีกำแพง แต่ใช้กำแพงเมืองแทน ขนาดวัดจากระเบียงนอกสุดกว้าง 156 เมตร และยาว 141 เมตร ความสูงที่ยอดของปรางค์องค์กลาง ซึ่งสูงที่สุดประมาณ 72 เมตร
…..ที่มาของชื่อบายอน
…..ชื่อ “บายอน” มีการสันนิษฐานกันไว้หลายแนวทาง บ้างว่า เรียกเพี้ยนมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “บายอง” (banyan) ซึ่งหมายถึงต้นไทร เพราะเชื่อว่า เมื่อนักสำรวจฝรั่งเศสเข้ามาที่นี่ใหม่ๆ ทั่วองค์ปราสาทปกคลุมด้วยป่า โดยเฉพาะต้นไทรฝรั่งเศสจึงเรียกว่า “ปราสาทต้นไทร” ส่วนในนิราศนครวัด ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียกว่า “ปราสาทบรรยงก์” ซึ่งหมายถึงพระที่นั่งในพระราชวัง และหากไม่เป็นการอธิบายด้วยหลักการพ้องเสียงแล้ว ก็คงมีที่มาจากพงสาวดารที่กล่าวถึงพระเจ้าปราสาททอง ให้ช่างออกไปถ่ายแบบปราสาทหินที่เมืองพระนครหลวง มาสร้างที่กรุงศรีอยุธยา แล้วให้ชื่อว่า “พระที่นั่งศรียโสธรมหาพิมานบรรยงก์”
…..หากแปลว่า บายอน ตามภาษาเขมรโบราณ แปลได้ว่า “ยันตระของบรรพบุรุษ” ยันตระ* คือ เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของพุทธฝ่ายมหายาน เป็นลายเราขาคณิตคล้ายรูปสี่เหลี่ยม ผังปราสาทบายอนก็มีลักษณะใกล้เคียงรูปดังกล่าว ความหมายที่แท้จริงของคำว่า บายอน จึงน่าจะหมายถึงปราสาทที่มีผัง เป็นรูปยันต์ ซึ่งสร้างมาแต่สมัยบรรพบุรุษ และหากถอดเสียงจากเขมรเป็นภาษาไทย ควรออกว่า
“บายัน”
…..(*ยันตระ หมายถึง มณฑล แสดงออกในรูปดอกบัวสี่กลีบ แปดกลีบ หรือ 16 กลีบ ในสังคมไทยปัจจุบันคือ เครื่องหมายยันต์ หรือการสักยันต์ที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมนั่นเอง)
ชมภาพจำหลักบนระเบียงคด
…..จากด้านหน้าหรือทิศตะวันออก จะเดินผ่านลานหน้าปราสาทมีสิงห์ตัวโตอยู่สองข้าง ทำหน้าที่เหมือนทวารบาลผู้พิทักษ์ปราสาท เข้าสู่ระเบียงคดชั้นนอก (หลังคาพังหมดแล้ว) ภายในโคปุระ มีพระพุทธรูปนั่งอยู่องค์หนึ่ง มักมีคนเขมรนั่งขายดอกไม้ธูปเทียนอยู่แถวนี้ ยังไม่ต้องขึ้นสู่ปราสาทด้านบน มักมีคนเขมรนั่งขายดอกไม้ธูปเทียนอยู่แถวนี้ ยังไม่ต้องขึ้นสู่ปราสาทด้านบน ให้เดินตาม เข็มนาฬิกาไปทางซ้ายหรือทิศใต้ของ ระเบียงคดเพื่อชมภาพสลักนูนต่ำอันมีชื่อเสียงก่อน
…..ระเบียงคดที่นี่เป็นกำแพงซ้อนกันสองชั้น มีภาพสลักทั้งชั้นนอกและชั้นใน ที่ชั้นนอกเห็นภาพสลักได้ชัด เพราะหลังคาคลุมพังหมด ส่วนชั้นในยังมีหลังคา จึงเห็นภาพสลักไม่ชัดเจนนัก แต่ละด้านของระเบียงคดถูกแบ่งกลางด้วยโคปุระ ทำให้ระเบียงคดแต่ละทิศมีสองปีก
…..ภาพสลักที่ระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ไม่มีเรื่องราวของเทพเจ้าในศาสนาเหมือนอย่างปราสาท นครวัด แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทั้งสิ้น
…..* ระเบียงคดทิศตะวันออกปีกด้านใต้ : พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กู้เมือง
…..เป็นเรื่องราวของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยที่ยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ กำลังจัดทัพรวบรวม ผู้คนทำสงครามขับไล่ชาวจาม มีเจ้าชายชัยวรมันประทับบนหลังช้างตัวหน้าสุดและชี้นิ้วไปเบื้องหน้า เหมือนจะบอกไพร่พลว่า เป้าหมายคือ กองทัพจามผู้รุกรานที่อยู่เบื้องหน้า หน้ากระบวนทัพช้างมีแถวทหารถือธงกปิธวัช หรือธงรูปหนุมาน
…..แถวทหารหามเครื่องดนตรีรูปกลมคล้ายฆ้อง มีนักเต้นร่ายรำคล้ายตีกลองสะบัดชัย หากสังเกตตัวหัวหน้าขี่ม้านำและกองทหารที่ตามหลังช้าง มีหน้าตาการแต่งตัวต่างจากกลุ่มของเจ้าชาย ชัยวรมันอย่างสิ้นเชิง ช่างแกะสลักแกะได้เหมือน จนดูออกว่า เป็นทหารชาวจีน มีใบหน้ารูปไข่ ตาเล็ก เกล้าผมมวย และบางคนมีเครา สันนิษฐานว่า เป็นกองทหารอาสาหรือทหารรับจ้างชาวจีนที่เจ้าชาย ชัยวรมันระดมมาสู้กับทัพจาม เพราะในช่วงนั้น กษัตริย์เขมรถูกพวกจามประหาร ผู้คนแตกซ่านหนีไป ตามที่ต่างๆ กำลังทหารเขมรจึงไม่เพียงพอที่จะช่วยพระองค์กอบกู้อาณาจักรได้
…..ตรงใกล้หัวมุมกำแพงของระเบียงภาพ มีจุดน่าดูมาก เป็นภาพของเหล่าสามัญชน เช่น คาราวานเกวียนของชาวบ้าน สันนิษฐานว่า เป็นชาวเขมรที่หลบหนีไปอยู่ป่าในสมัยที่พวกจามเข้ามาปล้นเมือง และอพยพกลับเข้าเมือง เมื่อเจ้าชายชัยวรมันรวบรวมผู้คนกู้ชาติขึ้นมาใหม่ จะเห็นภาพผู้หญิงเทินกระบุงไว้บนหัว บ้างก็อุ้มลูกเล็กเดินตามหลังเกวียน เด็กๆ เดินตาม มีสุนัขที่ชอบวิ่งไปหลบร้อน ตามใต้ท้องเกวียน บางคนเอาหน้าไม้แอบซุ่มยิงกวางเป็นเสบียง ภาพที่ตลกคือ ผู้หญิงหิ้วเต่า แล้วเตายืดออกมากัดก้นชายที่เดินนำหน้าอยู่ จนถึงกับต้องหันกลับมามองด้วยสายตาถมึงทึง
…..ที่กำแพงชั้นในเป็นเรื่องราวของเทพเจ้าทั้งหลายของฮินดู ทั้งพระศิวะและพระวิษณุ เชื่อว่า น่าจะสลักในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งกลับมานับถือศาสนาดูอีกครั้ง ภาพสลักในนี้ถูกทำลายด้วยน้ำและตะไคร่ไปมาก แต่ภาพที่น่าสนใจอยู่ตรงโคปุระกลาง เป็นภาพวงดนตรีของเหล่าสตรีชาววังกำลังเล่นดนตรี เห็นเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นกันในราชสำนักเขมรยุคนั้นอย่างชัดเจน

…..* ระเบียงคดทิศใต้ : ยุทธนาวีที่ต็วนเลซาบ
เป็นด้านที่มีภาพสลักสมบูรณ์ที่สุด เป็นเรื่องราวการสู้รบทางเรือระหว่างทหารเขมรกับทหารจาม หรือ “ยุทธนาวีที่ต็วนเลซาบ” สามารถแยกแยะกองทัพสองฝ่ายได้ชัดเจน เพราะทหารจามจมูกโด่ง เป็นสันอย่างชาวแขก สวมหมวกมีกะบังกันด้านหลังคอ นั่งมาในเรือที่มีโขนเรือเป็นรูปครุฑ ส่วนทหารเขมรตาโต จมูกโต ไม่สวมหมวก ไม่สวมเสื้อ นุ่งเตี่ยว สวมสร้อยสังวาล ซึ่งอาจเป็นลูกประคำหรือเครื่องรางของขลังก็ได้ กองเรือมีโขนเรือเป็นรูปนาค ภาพแสดงเป็นฉากๆ ตั้งแต่การยกทัพกระบวนเรือ จนกระทั่งทัพเรือทั้งสองปะทะกัน มีภาพทหารจามที่ถูกแทงตกเรือ แล้วโดนจระเข้กัด ภาพทหารเขมรคนเดียวไล่แทงทหารจามนับสิบคน
…..ด้านล่างของระเบียงเป็นภาพวิถีชีวิตชาวเขมรยุคนั้น ซึ่งน่าสนใจมาก เช่น ภาพชาวบ้านกำลังตีไก่ คนเขมรกับคนจีนจูงหมูมากัดกัน การปิ้งปลาและลวกหมูในกระทะใหญ่ ที่หัวมุมติดกับโคปุระ มีภาพการสกัดหินขนย้ายไปสร้างปราสาท เป็นภาพที่สำคัญมาก เพราะหาชมไม่ได้ในที่อื่นๆ ภาพสลักเชิงวิถีชีวิตเหล่านี้ ถือเป็นจุดเด่นของงานแกะสลักในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่แจ่มชัดไม่แตกต่างจากภาพถ่ายของยุคนี้
…..* ระเบียงคดทิศตะวันตก : สงครามกลางเมืองและการปราบกบฏ
…..ภาพสลักด้านนี้ หลายจุดยังแกะไม่เสร็จ โดยเฉพาะปีกด้านใต้ภาพที่พอดูออกเป็นรูป เช่น ภาพพราหมณ์ปีนต้นไม้หนีเสือ ส่วนปีกด้านเหนือมีภาพสำคัญคือ ภาพสงครามกลางเมือง มีทั้งการกระทำยุทธหัตถี การรบตะลุมบอน สันนิษฐานว่า เป็นเหตุการณ์การปราบกบฏที่เรียกว่า “ภรตะราหู” ภาพสลักแบบนี้พบที่ปราสาทบันทายฉมาร์ ซึ่งสร้างในยุคเดียวกันด้วย
…..บริเวณกำแพงชั้นในของระเบียงคดทิศตะวันตกปีกด้านเหนือ หลังคาได้พังไปหมดแล้ว มีภาพสลักที่น่าดู คือภาพการกวนเกษียรสมุทร แม้ขนาดจะไม่ใหญ่และวิจิตรเท่าที่ปราสาทนครวัด แต่ที่นี่ มีภาพคนโทใส่น้ำอมฤตอยู่ด้วย
…..* ระเบียงคดทิศเหนือ : การเฉลิมฉลองบางอย่าง
มีหลายจุดยังแกะไม่เสร็จ บางภาพก็เป็นภาพที่โกลนขึ้นรูปร่างไว้เท่านั้น แต่ภาพที่เสร็จแล้ว ก็น่าสนใจ เช่น ภาพการแสดงกายกรรมและละครสัตว์ มีนักกายกรรมกำลังนอนถีบกงล้ออยู่ และมีผู้คนกำลังเฝ้ามองจากบนระเบียง สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นพิธีเฉลิมฉลองบางอย่าง
…..* ระเบียงคดทิศตะวันออกปีกด้านเหนือ : กองทัพจามบุกเมืองพระนคร
…..น่าจะเป็นภาพเริ่มต้นของเรื่องราวบนระเบียงปราสาทบายอน เพราะเป็นเรื่องกองทัพจาม ยกมาตีเมืองพระนครครั้งแรก ทหารจามไล่ฆ่าฟันชาวเขมร ซึ่งพากันหนีตายอพยพออกจากเมือง
…..ที่กำแพงชั้นในมีจุดน่าสนใจ คือภาพเรื่องตำนานพระเจ้าขี้เรื้อน ซึ่งเชื่อว่าหมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะมีภาพกษัตริย์ต่อสู้กับพญานาค ถูกพิษร้ายพ่นใส่ ทำให้เป็นขี้เรื้อน ภาพคนออกป่า ไปหายามารักษา ภาพกษัตริย์ไปรักษากับฤๅษี
…..ปรางค์พระพักตร์ แห่งบายอน
…..เชื่อกันว่าแต่เดิมปรางค์รูปพระพักตร์ที่ปราสาทบายอนมีทั้งหมด 54 ปรางค์ โดยดูจากผังของปราสาท และลักษณะทางสถาปัตยกรรมในการวางตำแหน่งของปรางค์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน 37 ปรางค์
…..การชมปรางค์พระพักตร์ ที่ชัดเจนต้องขึ้นไปชั้นที่ 3 สามารถเดินวนได้รอบ ด้านที่สามารถเห็นใบหน้าบนปรางค์ได้ชัดเจนพร้อมกันหลายหน้า อยู่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้กับมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใบหน้าที่มองได้ในระดับสายตาจะอยู่ใกล้กับบันไดด้านทิศเหนือ
…..การสร้างปรางค์ที่แกะเป็นใบหน้ามนุษย์ทั้งสี่ทิศรอบองค์ปรางค์ เป็นเอกลักษณ์ของปราสาท ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สมัยก่อนหนังสือเมืองไทยนิยมเรียกใบหน้าดังกล่าวว่า “พรหมพักตร์” เพราะมีสี่หน้าแบบพระพรหม บ้างก็ว่าปรางค์รูปหน้าดังกล่าว ได้รับอิทธิพลมาจาก “มุขลึงค์” หรือศิวลึงค์ที่มีรูปหน้าประดับอยู่ทั้งสี่ด้าน ปัจจุบัน สันนิษฐานว่า ใบหน้าเหล่านี้ น่าจะหมายถึงใบหน้าของพระเจ้าชั ยวรมันที่ 7 ในรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เนื่องจากพระองค์ทรงถือว่า ตัวเองเป็น “พุทธราชา” เป็นเสมือนอวตารปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์
…..ปัจจุบันปรางค์รูปพักตร์แห่งบายอนเป็นเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งของประเทศกัมพูชา

บทความอื่นๆ