เมืองพระตะบอง

…..พระตะบอง (Battambang) ออกเสียงแบบเขมรว่า ปัตตัมบอง แปลว่า ตะบองหาย จังหวัดพระตะบอง อยู่ทางภาคตะวันตกของกัมพูชา มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว และจันทบุรีของประเทศไทย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 พระตะบองมีความสำคัญในฐานะพื้นที่แห่งการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสยามกับญวน และกับฝรั่งเศส ในเวลาต่อมาพระตะบองเริ่มมีความสำคัญในฐานะเมืองการค้า ซึ่งมีประชากรตั้งถิ่นฐานประมาณ 2,500 คน
…..พระตะบองเป็นเมืองเล็กๆ มีแม่น้ำที่ไหลมาจากจันทบุรีชื่อแม่น้ำสตังซังเกอร์ (Stung Sangker) ไหลผ่านกลางเมืองก่อนจะไหลไปลงโตนเลซาบ ด้วยเหตุนี้พระตะบองจึงอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินของชาวเมือง
…..พระตะบองมีเสน่ห์ที่วิถีชีวิตแบบชนบทเรียบง่าย ชาวบ้านยังใช้วัวเทียมเกวียน ม้าเทียมเกวียน ในการสัญจรไปมา ตลาดสดพระตะบองเป็นตลาดเก่าริมแม่น้ำ พ่อค้าแม่ขายที่นี่เริ่มกิจกรรมค้าขายกันราวเก้าโมงเช้า สินค้าหลักคือ ปลานานาชนิด ชาวบ้านจะเอาปลาเป็นๆ มาวางเรียงรายบนใบตองรอลูกค้ามาเลือกซื้อ
…..ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกอย่าง ซึ่งมีชื่อเสียงระบือไกลไปทั่วโลก นั่นคือรถไฟไม้ไผ่ ประดิษฐกรรมจากภูมิปัญญาชาวพระตะบองที่ใช้เป็นพาหนะสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้าน โดยการนำแคร่ไม้ไผ่มาวางบนล้อรถ ใส่เครื่องยนต์เล็กๆ เข้าไปแล้วพ่วงสายพานไปหมุนล้อใช้แล่นไปตามรางรถไฟที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นสมัยครอบครองกัมพูชา ซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว
…..ต่อมานักท่องเที่ยวเห็นรถไฟไม้ไผ่แล้วอยากใช้บริการบ้าง การนั่งรถไฟไม้ไผ่ชมอาคารสไตล์โคโลเนียลที่ยังคงเหลือในพระตะบอง และสัมผัสกลิ่นอายชนบทอย่างใกล้ชิดจึงกลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมไป
…..* วัดพนมซัมเปย
…..ในอดีตวัดพนมซัมเปย (Phnom samprou) เป็นที่ตั้งของถ้ำที่เขมรแดงใช้สังหารเหยื่อผู้ต่างอุดมการณ์ด้วยวิธีต่างๆ แล้วโยนลงมาในเหวที่เป็นปล่องถ้ำ ต่อมากระดูกของผู้เคราะห์ร้ายในถ้ำถูกเก็บ ใส่ในตู้ไว้ส่วนหนึ่ง แล้วต่อมาได้มาทำเป็นวัดบนยอดเขาภายหลัง
…..เมืองไพลิน ถิ่นเขมรแดง
…..ไพลิน (Pailin) เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งในพื้นที่เนินเขาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ความสำคัญของเมืองแห่งนี้คือ การเป็นแหล่งอัญมณีของกัมพูชาและเป็นฐานที่มั่นคงของเขมรแดงในช่วงปี ค.ศ. 1979 หลังเวียดนามยกกองทหารมาขับไล่ออกจากพนมเปญ ทำให้เขมรแดงมีรายได้จากการค้าอัญมณี เพื่อนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลที่มีเวียดนามให้การสนับสนุนได้อีกหลายปี
…..เชื่อกันว่าหินมีค่าในพื้นที่แถบนี้สร้างรายได้ให้กลุ่มเขมรแดงกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน เขมรแดงยึดเมืองไพลินไว้ได้จนถึงเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1996 ก่อนที่ผู้นำซึ่งแฝงตัวในพื้นที่แถบนี้อย่างเอียงสารี จะประกาศยอมแพ้จะเข้ามอบตัวต่อรัฐบาล

บทความอื่นๆ