เมืองเสียมเรียบ

…..เมืองเสียบเรียบ หรือเสียมราฐ เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเสียมเรียบทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ถือเป็นประตูสู่พระนคร ชื่อเสียมเรียบ หมายความถึง สยามพ่ายแพ้ โดยผู้ที่ตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ คือ สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองค์จัน) ผู้มีพระทัยฝักใฝ่กับเวียดนามในยามที่เขมรยังมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19
…..เดิมเสียมเรียบเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ในชนบท และแม้จะอยู่ไม่ไกลจากเมืองพระนคร แต่พื้นที่แทบนี้จะไม่มีโบราณสถานใดๆ ฝรั่งเศส เริ่มรู้จักเสียมเรียบในปี ค.ศ. 1907 หลังจากนั้นเสียมเรียบก็เติมโตขึ้นเรื่อยๆ โดยทำหน้าที่เป็นเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยือนเมืองพระนคร เพราะเสียมเรียบมีโรงแรมใหญ่มาตั้งเป็นแห่งแรกๆ ในปี ค.ศ. 1929 ได้แก่ Grand Hotel d’Angkor มีคนดังระดับโลกมาพักมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ โอนาสซิส หรือชาร์ลี แชปลิน ฯลฯ
…..หลังปี ค.ศ. 1975 ในยุครัฐบาลเขมรแดง คนในเสียมเรียบ ถูกกวาดต้อนออกไปทำไร่ไถนาในท้องถิ่นชนบท ทำให้เสียมเรียบกลายเป็นเมืองร้างอยู่หลายปี กระทั่งเขมรแดงหมดอำนาจ เสียมเรียบจึงกลับมามีบทบาทในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชาอีกครั้ง มีที่พักทุกระดับเปิดให้บริการ รวมทั้งสิ่งที่รองรับนักท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ย่านชอปปิง และท่าอากาศยานนานาชาติ
…..เมืองพระนคร
…..เมืองพระนคร (Angkor) ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดเสียมเรียบ ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 310 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรอันรุ่งเรือง ซึ่งเริ่มก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ก่อนจะถูกทับสยามรุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนต้องมีการอพยพยกย้ายไปตั้งนครหลวงแห่งใหม่ กุญแจสำคัญในความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแห่งนี้คือ การที่กษัตริย์เขมรสามารถ วางระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงพากันมาอยู่อาศัยทำกิน ทำให้อำนาจ และมีบารมีของกษัตริย์หลายรัชสมัยมีความมั่นคงและแผ่ขยายออกไป
…..สิ่งที่ยืนยันความรุ่งเรืองของดินแดนเขมรและอำนาจอันไพศาลของกษัตริย์คือ หมู่เทวสถานที่สร้างขึ้นอย่างหนาแน่น ในปี ค.ศ. 1992 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกยกย่องให้เมืองแห่งนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยในเขตเมืองพระนคร ประกอบด้วย โบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง
…..นครธม
…..เมืองนครธม (Angkor Thom) ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเสียมเรียบ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของทะเลสาบเขมร เมื่อครั้งจูต้า-กวน ทูตจีนเดินทางมาเยือนกัมพูชาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เขาได้บันทึกถึงเมืองใหญ่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า นครธม เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสท่ามกลางวงล้อมของ คูเมืองที่กว้างกว่า 100 เมตร และกำแพงสูง 8 เมตร กำแพงแต่ละด้านมีความยาวราว 3 กิโลเมตร เมืองในกรอบสี่เหลี่ยมแห่งนี้มีทางเข้า 5 ประตู แต่ละประตูมีสะพานทอดข้ามคูน้ำ โดยสะพานทางด้านใต้มีรูปหินสลักที่สวยงามอยู่ 108 รูป ปลายสะพานคือ ประตูทิศใต้ที่ทำเป็นซุ้มจตุรมุข มีภาพสลักพระพักตร์ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดมหึมาหันออกไปทั้งสี่ทิศ
…..นอกจากการสร้างเมืองที่ใหญ่โตอลังการ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังมีบัญชาให้สร้างเทวสถานหลายแห่งที่สุดพระองค์หนึ่ง ซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางโบราณคดีมาจนยุคปัจจุบัน
…..* ปราสาทบายน
…..ปราสาทบายน (Bayon) เป็นศูนย์กลางของนครธม เป็นปราสาทหลวงประจำรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7และเป็นการพลิกรูปแบบของการสร้างปราสาทในกัมพูชา ด้วยปราสาทบายนแสดงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแบบมหายานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งแผกไปจากกษัตริย์พระองค์ก่อน แห่งอาณาจักรนี้ที่สร้างศาสนสถานเพื่อแสดงถึงศรัทธาในศาสนาฮินดู
…..ปราทสาทบายนประกอบด้วยองค์ปราสาท ตั้งอยู่บนฐานซ้อนสามชั้น สมมุติให้เป็นทิพยสถานของเทพเจ้าบนยอดเขาพระสุเมรุด้วยปรางค์จตุรมุข สลักเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรขนาดใหญ่กว่า 200 พักตร์ รวม 54 ปรางค์ หันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลความทุกข์ของเหล่าพสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มบนพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเรียกว่า ยิ้มแบบบายน ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา
…..ภาพจำหลักในปราสาทบายน แสดงเรื่องราวในชีวิตประจำวัน สงครามกับจามปา รวมทั้งเทพเจ้าอินเดีย ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของศิลปะแบบบายน คือการที่ภาพจำหลักมีการแสดงเรื่องราวในประวัติศาสตร์กัมพูชา แทนที่จะเป็นเหตุการณ์จากมหากาพย์รามยณะหรือวรรณกรรมอื่น อย่างปราสาทแห่งอื่นๆ ทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงชีวิตของผู้คนในยุคนั้น เช่น ภาพชาวบ้านกำลังค้าขาย กินอาหาร เล่นการพนัน เลี้ยงเด็ก ดูแลคนแก่ ขี่เกวียน วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ยังคงพบเห็นได้ในชนบทของกัมพูชาในปัจจุบัน
…..* บารายตะวันตก (West Baray)
…..บารยตะวันตกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ทางตะวันตกของนครธม สร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร ใจกลางของบารายมีเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ เรียกว่าแม่บุญตะวันตก ซึ่งยังคงมีน้ำขังอยู่จนถึงทุกวันนี้ สามารถใช้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง ขณะที่บารายตะวันออกตื้นเขินไปแล้ว
…..* นครวัด มนตร์ขลังแห่งพลังศรัทธา
…..กว่า 900 ปีมาแล้ว ด้วยพลังศรัทธาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีต่อองค์วิษณุเทพในศาสนาฮินดู พระองค์จึงโปรดให้สร้างปราสาทนครวัด (Angkor Wat) ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่และงดงามที่สุด และมีพระประสงค์เพื่อใช้เป็นราชสุสานเก็บพระศพของพระองค์เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ดังนั้น ตัวปราสาทจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ปรางค์องค์กลางมีรูบรรจุทรายอยู่ ซึ่งคาดว่า จะใช้สำหรับซับพระบุพโพ (น้ำเหลือง)
…..นครวัด ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานเกือบ 37 ปี ใช้หินปริมาตรหลายล้านลูกบาศก์เมตร ที่นำมาจากเทือกเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดกว่า 50 กิโลเมตร โดยใช้ช้างนับพันเชือกในการขนย้าย ใช้แรงงานนับแสนคนในการก่อสร้างตกแต่ง จนสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะมีการสร้างต่อในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และสมัยนักองค์จันทร์ ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
…..จนถึงวันนี้ เมื่อก้าวผ่านสะพานข้ามคูที่ล้อมรอบกำแพงสู่หมู่ปราสาทที่ตั้งตระหง่านด้วยความสูงถึง 65 เมตร ประกอบกับความใหญ่โตอลังการและการก่อสร้างที่สลับซับซ้อนสร้างความ ตะลึงงันให้แก่ผู้มาเยือน
…..ปราสาทนครวัด ครอบคลุมพื้นที่ 200,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย โครงสร้างหลักของสถาปัตยกรรมขอม 2 ส่วน คือ องค์ปราสาทและระเบียงคต 3 ชั้น ปราสาท 5 หลัง ตั้งบนฐานสูงตามหลักภูมิจักรวาลของฮินดู มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนของจักรวาล ซึ่งแทนด้วยปราสาท ประธานหลังกลาง มีทวีปทั้ง 4 รายล้อม แทนด้วยปราสาท 4 หลัง ที่อยู่ที่มุมทั้งสี่
…..นครวัดมาจาก “นอกอร์วัด”
…..คำว่า นครวัด มาจากคำว่า นอกอร์วัด ซึ่งคำว่า นอกอร์นั้น หมายถึง นคร ในสมัยนักองค์จันทร์กษัตริย์เขมร ซึ่งทรงนับถือศาสนาพุทธได้ใช้เทวาลัยแห่งนี้ ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เหมือนเป็นวัด จึงกลายเป็นที่มาของคำว่า วัดเมื่อรวมกับ นอกอร์ จึงกลายเป็น นอกร์วัด นั่นเองเมื่อ ชาวฝรั่งเศสเข้ามาพบนครวัด ได้เรียกชื่อของนครวัดเพี้ยนไป เป็น อังกอร์วัด และใช้ตลอดมา
…..ตามผนังระเบียงคตชั้นนอกที่ล้อมรอบปราสาททั้งสี่ทิศรยรอบไปด้วย ภาพจำหลักที่งามวิจิตร อาทิ งานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร ซึ่งเป็นการรบระหว่างตระกูลเการพกับตระกูลปาณฑพ จากมหากาพย์มหาภารตยุทธ
…..ระเบียบคตชั้นในเป็นภาพจำหลักนางอัปสราที่ความงามเป็นที่ลือเลื่องไปทั่วโลก 1,635 นาง ด้วยถนิมพิมภาภรณ์ และทรงผมอันวิจิตรพิสดาร และอากัปกิริยาอันอ่อนช้อยยวนตาของแต่ละนางนั้น แทบจะไม่ซ้ำกันเลย แสดงถึงภูมิปัญญาอันบรรเจิด และล้ำลึกของช่างแกะสลักในยุคนั้น
…..จากระเบียงคตชั้นกลางถึงทางขึ้นอันสูงชัน นำไปสู่ชั้นบนสุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของปรางค์ประธาน อันเป็นที่ประดิษฐานโกศพระบรมศพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 บนยอดมหาปราสาทอันสูงสง่านี้ เราจะมองเห็นเมืองเสียมเรียบไปทั่วทุกทิศ
…..กำเนิดนางอัปสราที่นครวัด หรือนางอัปสร ถือเป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่ง อาจเรียกว่า นางฟ้าก็ได้ แต่ไม่ใช่เทวดา มีฐานะเป็นอมนุษย์บังเกิดขึ้นเมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทร เพื่อเอาน้ำอมฤตขึ้นมา ดังความปรากฏในมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย คำว่า อัปสร นั้น มาจากคำว่า อัป หมายถึง น้ำ และ สร หมายถึง การเคลื่อนไป อัปสร จึงหมายถึง ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ ตามตำนานของฮินดูกล่าวว่า พระพรหมทรงสร้างนางอัปสรขึ้น เป็นนางบำเรออยู่ในราชสำนักของพระอินทร์ในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ ได้กล่าวถึงนางอัปสรที่สำคัญไว้หลายตนด้วยกัน เช่น มัญชุเกศี สุเกศี อรชุนี สรลา นันทา สุปุษกลา ฯลฯ นางอัปสรแปลงกายได้ ทั้งยังมีความสามารถในการขับร้องและเต้นรำ ชาวเขมรเชื่อกันว่า นางอัปสรา นั้น เป็นเทพธิดาแห่งความดีงาม รวมทั้งเป็นผู้ที่คอยดูแลศาสนสถานอีกด้วย ดังจะได้เห็นนางอัปสรา ปรากฏอยู่ในปราสาทหินต่างๆ แทบทุกแห่งของเขมร
…..ชาวตะวันตกรับรู้เรื่องนครวัดครั้งแรกจากบันทึกของราชทูตจีน จูต้า-กวน และบาทหลวงชาวฝรั่งเศส แต่ก็เป็นเพียงคำบรรยาย ซึ่งผู้ได้อ่านบันทึกหรือฟังคำบอกเล่าต่างนึกภาพตามไม่ออก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1859 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูเฮต์ (Henri Mouhot) ได้ใช้เงินส่วนตัวเดินทางมาที่นครวัด และวาดภาพเมืองโบราณแห่งนี้ออกสู่สายตาชาวโลก ถึง 800 ภาพ ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารเที่ยวรอบโลก (Le Tour Du Monde) สร้างความตื่นตะลึงให้แก่นักโบราณคดีและคนทั่วไป ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฝรั่งเศสหันมาสนใจกัมพูชาเพราะมองว่านครวัดอันรกร้างแต่งดงามอลังการแห่งนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ที่สุดวิเศษสำหรับลัทธิจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส
…..นครวัดมีอีกนามหนึ่งว่า บรมวิษณุมหาปราสาท
…..ตามธรรมเนียมของขอม กษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้ว จะได้รับการถวายพระนามใหม่ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็เช่นกัน มีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่า บรมวิษณุ นครวัด จึงมีอีกนามว่า บรมวิษณุ มหาปราสาท

บทความอื่นๆ