วิธีเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน นั่งตรงไหนดีที่สุด

 

บริษัททัวร์คุณภาพ

เหนือด้วย…ราคา และคุณภาพ

ข่าวสาร

 

 

airplane

เป็นเรื่องที่หลายคนมองข้าม หรือไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควรกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องบิน เพราะคิดเอาเองว่านั่งตรงไหนก็เหมือนกัน หรือบางคนก็เลือกแค่ริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่าง โดยไม่ได้สนใจหรอก ว่าแท้จริงแล้ว เราควรนั่งตรงไหนกันแน่?

seat-selection-700x465
ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการเลือกที่นั่งบนเครื่องบินค่อนข้างมากมาโดยตลอด และผมจะบอกให้รู้เลยว่า มันมีผลต่อความสะดวกสบายในการเดินทางมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินสั้นหรือยาวแค่ไหน

และไม่ว่าจะเดินทางด้วยชั้นโดยสารไหนก็ตาม โดยเฉพาะ Economy Class ที่ผมบอกได้เลยว่า ความสบายของแต่ละที่นั่งในเครื่องบินลำเดียวกันนั้น มีความแตกต่างอย่างมาก (ทั้งๆ ที่จ่ายเท่ากันนะเออ)

ทำไมต้องเลือกที่นั่งก่อนเดินทาง?

รู้หรือไม่ ว่าบนเครื่องบินลำเดียวกัน ชั้นโดยสาร Economy เหมือนกัน อาจมีพื้นที่วางขา (leg room / seat pitch) ไม่เท่ากัน แล้วเราจะไปนั่งที่แคบทำไม ในเมื่อเราเลือกได้ฟรี?

รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ?

รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ถึงจะเลือกติดหน้าต่างแล้ว แต่มันไม่มีหน้าต่าง!

รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ ต้องทนเสียงดังของรถเข็นและอุปกรณ์ขณะที่ Air Hostess กำลังเตรียมจะเสิร์ฟ

รู้หรือไม่ ว่าที่นั่งบางที่ อยู่หน้าห้องน้ำ และชอบมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำข้างๆ เราอยู่ตลอด แถมบางทีก็ต้องทนกลิ่นเหม็นจากห้องน้ำด้วย

แล้วทำไมเราจะไม่เลือกล่ะครับ ในเมื่อเราเลือกได้!

original

ก่อนที่จะไปเลือกที่นั่ง มีสิ่งสำคัญ 3 อย่างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับการเดินทางของเราครับ

1) สายการบินนั้น อนุญาตให้เราเลือกที่นั่งได้หรือไม่?

สายการบินพาณิชย์ส่วนมาก สามารถให้เราเลือกที่นั่งได้เอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ ซึ่งเกินกว่าครึ่งของผู้โดยสารปัจจุบัน ไม่ได้เลือกที่นั่งด้วยตัวเองเลย รู้แค่ว่าจองๆ ซื้อๆ ไป ตอนเช็คอินเค้าให้นั่งตรงไหนก็นั่ง

หรือต่อให้ในหน้าเว็บมีผังที่นั่งให้เลือก ก็เลือกไปแบบไม่ได้สนใจอยู่ดี ว่าที่นั่งไหนถึงจะดีที่สุด ในขณะที่บางสายการบิน ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเลือกที่นั่ง

โดยเฉพาะสายการบินโลว์-คอสต์ เช่น AirAsia เป็นต้น หรือ บางสายการบิน ก็อนุญาตให้เลือกที่นั่งได้ฟรี แต่ต้องทำรายการก่อนที่จะเดินทางอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เช่น นกแอร์

2) หมายเลขเที่ยวบิน

อันนี้ทุกคนน่าจะต้องทราบอยู่แล้ว ว่าเรากำลังจะเดินทางด้วยเที่ยวบินไหน ของสายการบินอะไร ก็ให้จดออกมาครับ เพราะเราจะต้องเอามาใช้กรอกในเว็บที่ผมจะกล่าวถึงในภายหลัง

3) เดินทางกี่คน?

เป็นปัจจัยต้นๆ ของการเลือกที่นั่งครับ เพราะเราก็ต้องอยากนั่งติดกับเพื่อนหรือครอบครัวของเราแน่ๆ ไม่ได้อยากไปนั่งติดกับใครก็ไม่รู้ ที่ต้องไปลุ้นอีกว่า นางจะตัวใหญ่ไหม หรือ นางจะตัวเหม็นแค่ไหน ซึ่งจำนวนคนที่เราจะเดินทางด้วย มีผลในการเลือกที่นั่งอย่างมากครับ เพราะผังที่นั่งของเครื่องบินในชั้น Economy ก็จะมีทั้งแบบ 2 ที่นั่ง, 3 ที่นั่ง หรือ 4 ที่นั่งติดกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบินลำนั้นๆ

และศัพท์ที่ควรรู้ก่อนไปเลือกที่นั่งอีก 2 คำ คือคำว่า Width และ Pitch ครับ
Seat Width

คำว่า Width หรือที่แปลว่าความกว้าง ในที่นี้จะหมายถึงระยะห่าง จากขอบเบาะที่นั่งด้านหนึ่งไปถึงขอบเบาะอีกด้านหนึ่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว Width ของที่นั่งชั้นประหยัด (Economy Class) จะอยู่ที่ประมาณ 17′ – 18″ ถึงจะสามารถนั่งได้อย่างไม่อึดอัดครับ และ Seat Width ของที่นั่งในชั้นโดยสารเดียวกัน ในเครื่องบินลำเดียวกัน จะห่างเท่ากันเสมอ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนก็ตาม

seat-width

Seat Pitch

อีกหนึ่งคำที่ต้องรู้ และสำคัญมากๆ คือ Seat Pitch หรือว่าระยะห่างระหว่างขอบหลังสุดของเบาะที่นั่ง 2 แถวบนเครื่องบิน (เมื่อปรับเบาะขึ้นมาอยู่ในระดับตรง) ซึ่งเจ้า Seat Pitch นี่แหละครับ ที่แม้จะเดินทางในชั้นโดยสารเดียวกัน บนเครื่องบินลำเดียวกัน ก็อาจจะห่างไม่เท่ากันก็ได้

ด้วยข้อจำกัดของรูปร่างเครื่องบิน และความคุ้มค่าของสายการบินเอง ที่ต้องเพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงอาจทำให้ที่นั่งบางแถวแคบกว่าแถวอื่น (โดยที่ผู้โดยสารไม่รู้ตัว และไม่เคยมีบอกในตั๋วโดยสาร) เราเลยอาจจะสงสัยว่า ทำไมบางครั้งก็รู้สึกว่ามันกว้าง บางทีก็รู้สึกว่ามันแคบ ทั้งๆ ที่เดินทางด้วยสายการบินเดียวกันตลอด

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องเลือกที่นั่งที่ดีที่สุดบนเครื่องบินก่อนที่จะเดินทาง

อย่างไรก็ตามตัวเลข Seat Pitch ในเครื่องบินใหม่ๆ อาจจะแคบลงเล็กน้อย เพราะเทคโนโลยีที่นั่งปัจจุบันสามารถทำให้เบาะบางลงกว่าเดิมมากครับ ตัวเลข Seat Pitch ที่ผมแนะนำว่าสามารถนั่งได้แบบไม่อึดอัดเกินไปสำหรับเที่ยวบินไกลๆ คืออยู่ที่ราวๆ 31 ขึ้นไปครับ

seat-pitch
เอาล่ะ … มาเลือกที่นั่งกัน

ในโลกนี้มีเว็บไซต์ที่ให้บริการแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินหลายเว็บเลยครับ แต่ที่ใช้ง่ายและสะดวกมากที่ผมแนะนำคือ SeatGuru.com (ของ TripAdvisor) ที่มีทั้งหน้าเว็บ และมีแอพบนมือถือด้วย

หรืออย่าง SeatExpert.com, BestPlaneSeat.com ซึ่งเว็บพวกนี้ สามารถบอกเราได้ครบ ทั้งแผนผังที่นั่งบนเครื่องบินเกือบทุกแบบ, บอก Seat Pitch และ Seat Width ได้, ระบุ Good Seat, Bad Seat บนเครื่องบินแบบนั้นๆ ได้ รวมถึงมีคอมเมนต์บางอย่างของที่นั่งบางที่ให้เรารู้ล่วงหน้า โดยสามารถค้นหาได้จากหมายเลขเที่ยวบิน และวันที่จะเดินทางได้เลย ตัวอย่างเช่น …

screen-shot-2014-11-17-at-21.14.57_copy

ผมสมมติว่าเราจะเดินทางกันด้วยการบินไทย เที่ยวบิน TG 910 วันที่ 20 พ.ย. นะครับ ก็กรอกข้อมูล 3 ส่วนนี้เข้าไป จากนั้นระบบของ SeatGuru ก็จะสามารถบอกข้อมูลเหล่านี้ออกมาครับ

screen-shot-2014-11-17-at-21.16.41_copy
จะเห็นได้ว่า เที่ยวบินนี้ใช้เครื่องบินแบบ Boeing 747 ซึ่งเราสามารถกดเข้าไปดูแผนผังที่นั่งต่อได้ และนี่จะเป็นส่วนที่เราต้องสนใจ เพื่อใช้ในการเลือกที่นั่งกับทางสายการบินต่อไปครับ

thai_airways_boeing_747-400_74431

ข้อดีของ SeatGuru คือมันจะบอกเราเลยครับ ว่าที่นั่งไหนดี (สีเขียว), ที่นั่งไหนมีหมายเหตุต้องระวัง (สีเหลือง) และที่นั่งไหนไม่ดี (สีแดง)

รวมถึงแผนผังที่นั่งของเครื่องบินทั้งลำ ว่าแบ่งที่นั่งออกเป็นกี่แถว แถวละกี่ที่นั่ง ตำแหน่งของห้องน้ำ และ Galley (ส่วนที่แอร์ฯ ใช้เตรียมอาหาร) อยู่ตรงไหน, ตำแหน่งของปีกอยู่ตรงไหน และ ตำแหน่งของทางออกฉุกเฉินทั้งหมด (ลูกศรสีแดง)ก็มีบอกเอาไว้ครบถ้วน

screen-shot-2014-11-17-at-21.26.27_copy
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก SeatGuru ยังบอกได้อีกครับ ว่าแต่ละที่นั่ง มีหมายเหตุอะไรบ้าง แค่เอาเมาส์ไปวางไว้บนที่นั่งนั้นๆ ก็จะมีข้อมูลบอกครบ

เช่นที่นั่ง 35G นี้เป็นที่นั่งสีเหลือง (มีหมายเหตุต้องระวัง) ซึ่งระบุว่าเป็นที่นั่งแบบ Bulkhead หรือว่าที่นั่งแถวหน้าสุดของเซคชั่นนั้นๆข้อดีคือมีพื้นที่วางขาแบบล้นหลาม ไม่มีเบาะอยู่หน้าเรา แต่ก็จะไม่มีพื้นที่เก็บของใต้ที่นั่งด้านหน้า ที่นั่งตัวนี้ อยู่ใกล้ๆกับ Galley อาจจะมีเสียงดังจากการเตรียมอาหาร

และถ้าใครสังเกตดีๆ จะมีรูปรถเข็นเด็กอยู่หน้าที่นั่งแถวนี้ นั่นแปลว่าเป็นตำแหน่งของที่แขวนเปลเด็ก ซึ่งอาจซวยได้หากเที่ยวบินนั้นมีเด็กเล็กครับ ควรหลีกเลี่ยงถ้าต้องการจะหลับยาวๆ บนเครื่องบิน เป็นต้น

screen-shot-2014-11-17-at-21.30.21_copy
อีกหนึ่งตัวอย่างครับ มาดูที่นั่ง 42H ของเครื่องบินลำนี้บ้าง อันนี้ระบุว่าเป็นที่นั่งสีแดง (Bad Seat) เลยทีเดียว เพราะว่าเป็นที่นั่งแถวหลังสุดของเซคชั่นนั้นๆ ทำให้เบาะปรับเอนได้น้อยกว่าที่นั่งอื่นๆ แถมมันยังใกล้ห้องน้ำอีก อาจจะมีคนมายืนรอเข้าห้องน้ำเกะกะ และอาจได้กลิ่นจากห้องน้ำ

รวมถึงมีเสียงรบกวนจากเสียงกดชักโครก ยังไม่พอแค่นั้น ใต้ที่นั่งด้านหน้ายังมีกล่องเหล็กที่ไปลดพื้นที่วางขาเข้าไปอีก ถือได้ว่าที่นั่งนี้ห่วยสุดๆ บนเครื่องบินลำนี้เลยครับ แต่คุณอาจจะได้ไปนั่งก็ได้นะ ถ้าไม่ได้ไปเลือกที่นั่งเองก่อนการเดินทาง

screen-shot-2014-11-17-at-21.34.03_copyอีกหนึ่งข้อมูล ที่เอาไว้เปรียบเทียบระหว่างเครื่องบินแบบต่างๆ ของสายการบินต่างๆ ก็คือระยะ Seat Width และ Seat Pitch ของที่นั่งบนทุกชั้นโดยสารครับ

อย่างบน Boeing 747-400 ของการบินไทยลำนี้ ที่นั่ง Economy มี Seat Width 17.7 นิ้ว และ Pitch 34 นิ้ว ซึ่งค่อนข้างกว้างกว่า Airbus 320 ของสายการบิน AirAsia ที่มี Seat Width 18 นิ้ว แต่ Pitch แคบเพียง 29 นิ้ว เป็นต้น

screen-shot-2014-11-16-at-22.28.24-1024x678_copy
นอกจากข้อมูลใน SeatGuru แล้ว หลายๆ ครั้งที่เว็บสายการบินเองจะมีบอกแผนผังที่นั่ง และฟีเจอร์ต่างๆ ของที่นั่งเช่นเดียวกันครับ ซึ่งโดยส่วนมาก หากเว็บสายการบินมีบอก มักจะบอกอย่างละเอียดมากๆ เลย

เช่นแผนผังของเครื่อง Boeing 747-400 ของการบินไทย จากเว็บของการบินไทยเองด้านบนนี้ บอกได้ละเอียดถึงขั้นว่า แถวไหนมี Pitch สั้นกว่าปกติบ้าง เป็นต้น ดังนั้น ลองดูข้อมูลจากหลายๆ ทางครับ ทั้งจาก SeatGuru และลองเข้าเว็บของสายการบินที่เราจะเดินทางแล้วค้นดู เผื่อจะได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

แล้วนั่งตรงไหนดี?

ก่อนตอบคำถามนี้ ต้องถามกลับไปก่อนว่าเดินทางกี่คนครับ เพราะเป็นปัจจัยแรกที่ควรเอามาพิจารณาในการเลือกที่นั่ง ให้เพื่อนร่วมเดินทางของเราได้นั่งติดกันเสมอ ซึ่งก็ต้องย้อนมาดู Seat Map ของเครื่องบินอีกแหละครับ เพราะเครื่องบินใหญ่ๆ

อย่าง Boeing 747-400 หรือ Airbus A380 จะแบ่งแถวที่นั่งออกเป็น 3+4+3 (เช่นเดียวกับแผนผังด้านบน) ถ้าเดินทาง 4 คน ก็เหมาแถวกลางไปเลย เป็นต้น ยิ่งเดินทาง 2 คนขึ้นไป ผมยิ่งแนะนำให้จองที่นั่งล่วงหน้าครับ เพื่อที่จะการันตีได้ว่า คณะของเราจะได้นั่งด้วยกัน

screen-shot-2014-11-17-at-21.26.27_copy
เทคนิคส่วนตัว ที่นั่ง Economy ที่ดีที่สุดสำหรับผม ในการเดินทางคนเดียว บนเครื่องบินแบบที่มีเซคชั่นกลาง และเซคชั่นกลางมีที่นั่ง 3 ตัวติดกัน เช่นแผนผังแบบในรูปด้านบน (ส่วนมากเป็น Boeing 777 กับ 787) ผมแนะนำให้นั่งเซคชั่นกลาง แถว D หรือ F เลยครับ เพราะคุณจะสามารถลุกออกไปห้องน้ำได้โดยไม่ต้องเรียกให้ใครตื่น

และหากคุณหลับ คนที่นั่งกลาง (แถว E) ก็อาจจะไม่ได้รบกวนคุณ เพราะเขาสามารถออกได้ทั้งสองทาง นั่นแปลว่าลดโอกาสที่คุณจะโดนเรียกให้ตื่นเพื่อหลบทางให้เขาน้อยลงไปครึ่งนึงเลยทีเดียว! เทคนิคนี้นำไปใช้กับการเดินทาง 2 คนได้ด้วยครับ เราก็ยึดแถว D-E หรือ E-F ไว้ แค่นี้ก็ไม่ต้องหลบทางให้คนไม่รู้จักแล้ว

นั่งริมทางเดิน หรือ ริมหน้าต่างดีกว่ากัน?

aisle-seat-airplane-jokes
ของแบบนี้วัดกันที่กระเพาะฉี่ครับ ถ้าคุณเป็นคนเข้าห้องน้ำบ่อย แนะนำให้นั่งริมทางเดินเข้าไว้ จะได้ไม่ไปรบกวนคนอื่นมาก แต่ถ้าคุณเป็นคนหลับง่าย และตั้งใจจะนอนอย่างจริงจังบนเที่ยวบินนั้นๆ ก็เลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า

ส่วนที่นั่งที่ไม่ควรจะไปนั่ง และควรหลีกเลี่ยงที่สุดหากเดินทางคนเดียวคือที่นั่งหลุมดำ คือไม่ริมทางเดิน และไม่ริมหน้าต่าง ถ้าเลือกได้ หาที่นั่งซักริมหนึ่งจะดีกว่าครับ เพราะเราจะโดนเบียดจากแค่ฝั่งเดียว หากคนข้างๆ เราตัวใหญ่กว่าปกติ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยในการเลือกที่นั่งคือให้ล็อกอินเข้าระบบไปดูครับ ว่าเหลือที่ไหนว่างบ้าง หากเป็นเที่ยวบินที่ค่อนข้างเต็ม แนะนำให้ใช้เทคนิคด้านบนที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

แต่ถ้าเที่ยวบินค่อนข้างว่าง จะกลายเป็นคนละเรื่องทันที เพราะผมจะแนะนำให้เลือกที่นั่งโซนว่างๆ ไว้เลยครับ เพราะมีโอกาสอย่างมากที่คุณจะได้ที่นั่งข้างๆ เป็นที่ว่าง ทำให้มีพื้นที่มากขึ้นในการนอนยาวๆ และไม่ไปเบียดกับคนอื่นด้วย

untitled-copy
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ได้รับความสะดวกสบายจากที่นั่งด้วยปัจจัยภายนอก เช่นคนข้างๆ กลิ่นตัวแรง หรือ ตัวใหญ่จนเบียด หรือที่นั่งชำรุด อย่ากลัวที่จะถามหรือบอกพนักงานบนเครื่องบินอย่างสุภาพครับ เป็นสิทธิ์ของผู้โดยสารอย่างเราๆ ท่านๆ ที่จะได้รับการบริการเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ขอให้สนุกกับการเดินทางครับ

ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก: spin9

บทความอื่นๆ

  • hk01
    เที่ยวฮ่องกง วิธีการไหว้ขอพรเจ้าแม่กวนอิม ณ R...
  • r700
    เสียวขั้นสุดกับ Takabisha รถไฟเหาะตีลังกาที่ช...
  • rockpools1
    เที่ยวฮ่องกง Sai Wan Rock Pools พาไปเล่นน้ำสี...
  • k1
    ณิชา กับเพื่อน ๆ ดินเนอร์ใต้ท้องทะเล เล่นกับโ...
  • ซากุระ 2018 ญี่ปุ่น อัปเดตตารางการบานของซากุร...