16 เรื่องน่ารู้ไหว้สังเวชนียสถาน เส้นทางแสวงบุญดินแดนพุทธภูมิ

w700
สังเวชนียสถาน เที่ยวตามรอยพระพุทธเจ้ากับดินแดนพุทธภูมิศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนจากทั่วทุกมุมโลก

สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย และประเทศเนปาล ที่มีความสำคัญในฐานะเป็นดินแดนพุทธภูมิ ทั้งยังเป็นดินแดนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาหลายเหตุการณ์ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เส้นทางท่องเที่ยวนี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสวงบุญแต่การได้ไปเห็นและสัมผัสพลังศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ก็เหมือนเป็นการเปิดโลกอีกหนึ่งมุมที่เราไม่เคยเห็นจากที่ใดในโลกอย่างแน่นอน สำหรับใครก็ตามที่กำลังวางแผนเดินทางตามรอยพุทธศาสนามายังพุทธภูมิศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เรามีเรื่องน่ารู้เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับทริปการแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถานมาฝากกันค่ะ

1. สังเวชนียสถาน หมายถึง สถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น

2. สังเวชนียสถาน ประกอบด้วยทั้งหมด 4 แห่ง (ทั้งในประเทศอินเดียและประเทศเนปาล) คือ

– ลุมพินีวัน

สังเวชนียสถาน

w1

ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย

– พุทธคยา

สังเวชนียสถาน

w2

ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ภายในมีสถานที่สำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์, พระเจดีย์มหาโพธิ์ และพระแท่นวัชรอาสน์ เป็นต้น

– สารนาถ

สังเวชนียสถาน

w3

ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ประกอบด้วยถาวรวัตถุมากมาย ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระพุทธเจ้า เช่น ธรรมเมกขสถูป, ธรรมราชิกสถูป, เจาคันธีสถูป, เสาหินพระเจ้าอโศก และพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นต้น

– กุสินารา

สังเวชนียสถาน

w4

ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านกาเซีย เมืองขนาดเล็กอยู่ในเขตอำเภอเดโอเรีย รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

3. ปกติช่วงที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม ของทุก ๆ ปี

4. ปัจจุบันการเดินทางแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถาน สามารถทำได้ค่อนข้างสะดวก เพราะมีสายการบินให้บริการหลากหลาย (ทั้งบินตรงและต่อเครื่อง) หรือจะเป็นเที่ยวบินเฉพาะช่วงเทศกาลแสวงบุญก็มีให้นักท่องเที่ยวได้เลือก แต่ส่วนใหญ่มักนิยมเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ เพื่อความสะดวกของผู้แสวงบุญ

สังเวชนียสถาน
ภาพจาก Eagle9 / Shutterstock.com

w5
5. การเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนเดินทาง

– การเตรียมตัวเรื่องภาษา

ภาษาที่จำเป็นที่สุดคือภาษาอังกฤษ คนอินเดียส่วนใหญ่สามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ หรือเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นสำคัญ ๆ เอาไว้บ้างก็ดีไม่น้อยนะคะ

– การเตรียมตัวเรื่องสุขภาพ

ปกติแล้วการเดินทางแสวงบุญใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ทั้งในอินเดียและเนปาล ซึ่งนักท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องนั่งรถเป็นเวลานาน บางช่วงอาจต้องเดินทางตลอดทั้งวัน ดังนั้นร่างกายจึงต้องอึดในระดับหนึ่ง ควรไปตรวจเช็กสภาพร่างกายให้ละเอียด และเตรียมยาประจำตัวเอาไว้ให้พร้อม

– การเตรียมตัวเรื่องสภาพอากาศ

ช่วงฤดูการแสวงบุญจะอยู่ในช่วงอากาศหนาว แน่นอนเลยว่าควรที่จะต้องเตรียมเสื้อกันหนาวและอุปกรณ์ยังชีพต่าง ๆ เช่น ยาดม, ยาอม, ทิชชูเปียก, ผ้าอนามัย, หมวก และปลั๊กไฟ (แบบ universal adapter) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์กันฝุ่น เพราะการเดินทางต้องเผชิญกับฝุ่นอยู่เกือบตลอดเส้นทาง

6. นอกจากเตรียมอุปกรณ์การเดินทางที่จำเป็นแล้ว การเตรียมใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นกัน นั่นคือการพร้อมที่จะเผชิญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะถ้ามัวแต่หงุดหงิด กลัวร้อน กลัวสกปรก หรือกลัวห้องน้ำไม่สะอาด แทนที่ทริปนี้คุณจะได้สร้างบุญ อาจกลายเป็นการสร้างบาปไป ทางที่ดีเช็กกายและใจให้พร้อม ก่อนที่จะเดินทางมาแสวงบุญจะดีกว่า

สังเวชนียสถาน
ภาพจาก AJP / Shutterstock.com

w6

7. ควรพกหนังสือสวดมนต์ติดตัวไปด้วย (แต่บางคณะทัวร์ก็เตรียมไว้ให้) แนะนำให้ใช้หนังสือพระพุทธมนต์ฉบับ “ตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย-เนปาล” รวบรวมโดย “ท่านเจ้าคุณพระราชรัตนรังสี” สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่ มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02 184 4539

8. ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับและสิ่งของมีค่าต่าง ๆ รวมถึงเตรียมชุดขาวไปเผื่อ สำหรับวันที่เข้าไปในสังเวชนียสถาน

9. ไม่ต้องห่วงในเรื่องสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เรียกได้ว่ามีสัญญาณครอบคลุมตลอดเส้นทาง แนะนำให้ซื้อซิมการ์ดของอินเดียใช้จะดีกว่า เพราะราคาถูกกว่าเปิดโรมมิ่งไปจากไทย

10. ไม่ควรดื่มน้ำประปาหรือน้ำตามร้านค้าริมทาง แต่ส่วนใหญ่ถ้าเราไปกับทัวร์ บริษัททัวร์จะมีน้ำขวดสะอาดเอาไว้คอยบริการอยู่แล้ว

11. ห้องสุขาในอินเดียค่อนข้างมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทางสังเวชนียสถาน จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งคุณอาจจำเป็นที่จะต้องเข้าห้องน้ำธรรมชาติข้างทาง สำหรับผู้หญิงจึงควรเตรียมผ้าถุงหรือกระโปรงเอาไว้สวมทับ สำหรับการเข้าห้องน้ำ

สังเวชนียสถาน
ภาพจาก AJP / Shutterstock.com

w7
12. หลักปฏิบัติสำหรับการเข้านมัสการสังเวชนียสถาน ได้แก่

– ควรอยู่ในอาการสำรวม ไม่รบกวนผู้อื่นในระหว่างกำลังปฏิบัติธรรมหรือนั่งสมาธิ และไม่ควรนั่งกีดขวางทางเดิน

– เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน และหนังสือสวดมนต์ไปด้วยทุกครั้ง แต่บางสถานที่จะห้ามจุดธูป เทียน หรือปิดทองคำเปลว เพื่อไม่เป็นการทำลายโบราณสถาน นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

– ไม่เด็ดใบต้นพระศรีมหาโพธิ์ รวมถึงขูดขีดเอาเศษอิฐโบราณสถานต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวพุทธไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

สังเวชนียสถาน
ภาพจาก ichywong / Shutterstock.com

w8

13. สามารถถ่ายรูปได้ตามความเหมาะสม ตราบใดที่การถ่ายรูปนั้นไม่เป็นการรบกวนการปฏิบัติธรรมของผู้อื่น แต่ในกรณีของการถ่ายฤๅษีหรือนักบวช อาจจำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากเจ้าตัวเสียก่อน หรือบางครั้งอาจมีการเสียค่าใช้จ่ายด้วยต่างหาก

14. หากคุณไม่ต้องการที่จะถูกตามตื๊อจากขอทาน วิธีที่ดีที่สุดก็คือไม่ควรให้ทานในขณะที่เดินเข้าไปยังสถานที่ ลองคุณได้ให้ดูสักครั้ง คุณจะถูกตามตื๊อไปตลอด ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

15. ควรแลกเงินสกุลดอลลาร์ไปจากไทย และค่อยนำไปแลกเป็นเงินสกุลรูปีอินเดีย ส่วนสำหรับการใช้บัตรเครดิต จะรับก็แต่เฉพาะเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น

16. กรณีหนังสือเดินทางหายระหว่างการเดินทาง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา หรือ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ให้ออกเอกสารเดินทางกลับประเทศจึงจะสามารถเดินทางกลับได้ และหลีกเลี่ยงการหยิบหนังสือเดินทางออกมาดูในที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพราะอาจถูกขโมยหรือวิ่งราวได้ (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Royal Thai Embassy, New Delhi)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถาน และถึงแม้ว่าบางครั้งเส้นทางอาจไม่ได้ลงตัวเกือบทุกอย่าง แต่อย่างน้อยที่สุดนั่นทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวตามสภาพที่เป็น ใครที่มีความคิดอยากเปลี่ยนฟีลเที่ยวมาทางสายบุญบ้าง ทริปแสวงบุญสักการะสังเวชนียสถาน ก็เป็นอีกหนึ่งทริปที่ดีอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ newdelhi.thaiembassy.org, เฟซบุ๊ก Royal Thai Embassy, New Delhi

บทความอื่นๆ

  • hk01
    เที่ยวฮ่องกง วิธีการไหว้ขอพรเจ้าแม่กวนอิม ณ R...
  • r700
    เสียวขั้นสุดกับ Takabisha รถไฟเหาะตีลังกาที่ช...
  • rockpools1
    เที่ยวฮ่องกง Sai Wan Rock Pools พาไปเล่นน้ำสี...
  • k1
    ณิชา กับเพื่อน ๆ ดินเนอร์ใต้ท้องทะเล เล่นกับโ...
  • ซากุระ 2018 ญี่ปุ่น อัปเดตตารางการบานของซากุร...