พิพิธภัณฑ์ต็วลซฺแลง (Toul Sleng) ความโหดร้ายที่ต้องจารจำ

…..อาคารแห่งนี้ เดิมเคยเป็นโรงเรียนมัธยม นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 หลังเขมรแดงบุกยึดกรุงพนมเปญ และพอล พต เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลอาคารโรงเรียนถูกปรับใช้เป็นคุกที่รู้จักกันในชื่อ S-21 โดยจัดแบ่งเป็นห้องขังขนาดเล็ก มีประชาชนมากกว่า 20,000 คน ถูกนำตัวมาสอบสวน คุมขัง ทรมาน และ สังหาร ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เด็ก หรือคนชรา
…..ช่วงแรกๆ เป้าหมายที่ถูกนำตัวมาขังทรมานในคุกต็วลซฺแลงคือ ประชาชนคนธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีการศึกษาที่กลุ่มเขมรแดงตั้งข้อสงสัยว่าเป็นภัยและอาจให้การสนับสนุนรัฐบาล ชุดก่อน แต่ระยะหลัง รัฐบาลเขมรแดงเริ่มหวาดระแวงไปทั่ว นักโทษรุ่นท้ายๆ มีคนในสังกัดเขมรแดงเอง รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก
…..หลังปี ค.ศ. 1979 รัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนบทบาทคุกต็วลซฺแลง เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความทารุณโหดร้ายที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ โดยภาพถ่ยของเหยื่อการสังหารถูกนำมาติด เรียงราย รวมทั้งมีการจัดแสดงเครื่องทรมาน โซ่ ตรวน กุญแจมือ และอาวุธที่ใช้ในการประหาร ก่อนหน้านี้ มีการจัดแสดงนิทรรศการที่ได้รับการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวาง คือ การนำหัวกะโหลกของเหยื่อคุกต็วลซฺแลงมาจัดเรียงเป็นรูปแผนที่ประเทศกัมพูชา ปัจจุบันนิทรรศการดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีห้องที่เต็มไปด้วยหัวกะโหลก เปิดให้เข้าชมเพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์ในยุคเขมรแดงครองอำนาจ
…..* ทุ่งสังหารนับล้านชีวิตที่สิ้นไป
…..จากพิพิธภัณฑ์ต็วลซฺแลงแล้ว ออกนอกเมืองมาทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร ทุ่งสังหารเจืองไอ (Choeung Ek) เป็นร่องรอยความโหดร้ายทารุณของรัฐบาลเขมรแดงที่ทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นหลังได้รับรู้ เหยื่อของกลุ่มเขมรแดงรวมทั้งนักโทษจากคุณต็วลซฺแลงจะถูกส่งตัวมาเพื่อสังหารและฝังรวมกันในหลุมขนาดใหญ่บริเวณนี้ หลังจากรัฐบาลเขมรแดงหมดอำนาจ มีการพบศพผู้ที่ถูกสังหารในพื้นที่บริเวณนี้มากกว่า 8,000 ราย
…..ปัจจุบันมีการขุดซากโครงกระดูกขึ้นมาจากหลายหลุม และสร้างสถูปเจดีย์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ แด่ผู้เคราะห์ร้าย รวมทั้งกะโหลกศีรษะนับร้อยนับพันที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อยู่ในตู้กระจกใสขนาดใหญ่ นอกจากนี้ Killing Fields ยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1984 เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความทารุณโหดร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาในยุครัฐบาลเขมรแดง จนได้รับ Academy Awards ถึง 3 รางวัล

บทความอื่นๆ