ประวัติศาตร์กัมพูชา อาณาจักรขอม

…..* ยุคก่อนประวัติศาสตร์
…..หม้อดินในถ้ำลางสเปียนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา เป็นหลักชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่า ผืนแผ่นดินแถบนี้มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนประเด็นที่ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มาจากไหน มีรูปร่างหน้าตาและชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติ บ้างก็ว่า น่าจะเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากจีน บางสำนักบอกว่า มาจากอินเดีย ขณะที่นักวิชาการบางคนเชื่อว่า น่าจะมาจากหมู่เกาะในเอเชียอาคเนย์มากกว่า
…..แม้ประเด็นต่างๆ ดังที่กล่าวมาจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ก็มีหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ค่อนข้างมีวิวัฒนาการล้ำหน้า นักวิจัยระบุว่าดินแดนแถบนี้ เป็นภูมิภาคแรกที่รู้จักการปลูกข้าวและทำเครื่องมือสำริด
…..ปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อตั้งชุมชนและพัฒนาอารยธรรมให้เจริญก้าวหน้า อาจมาจากการที่แผ่นดินแถบนี้มีการความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรกรรม ทั้งการเพาะปลูกและจับปลา อีกทั้งยังเป็นทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลจีนใต้ และอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางการค้าระหว่างจีน เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ล้วนเกื้อกูลต่อพัฒนาการในอดีต และปรากฏชัดนับจากคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา
…..* อาณาจักรยุคแรก
…..มีตำนานของกัมพูชาที่เล่าขานถึงต้นกำเนิดของประเทศว่า วันหนึ่งพรามหมณ์เกาฑิณยะ ผู้มีธนูวิเศษได้ปรากฏกายที่ชายฝั่งแถบนี้ ธิดาพญานาคพายเรือมาต้อนรับ แต่เกาฑิณยะใช้ธนูยิงเรือ เจ้าหญิงนาคตกพระทัย จึงทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพราหมณ์ ก่อนวันเข้าพิธีสมรส เกาฑิณยะถวายเครื่องทรงให้เจ้าหญิง ส่วนพญานาคก็ตอบแทนด้วยการดื่มน้ำที่ท่วมแผ่นดินจนแห้ง และสร้างเมืองให้พระชามาดา (ลูกเขย) และเรียกชื่ออาณาจักรนี้ว่า กัมโพช
…..สิ่งที่ตำนานนี้ให้แก่เราก็คือ ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 3 ชาวจีนชื่อ คังไถ ได้บันทึกตำนานพญานาคนี้ไว้จากคำบอกเล่าของคนพื้นเมือง ทำให้พอเห็นเค้าลางว่าดินแดงแถบนี้มีการรับวัฒนธรรมจากอินเดีย เพราะทั้งตำนาพญานาค และชื่อ กัมโพชมีที่มาจากอินเดีย แต่ไม่มีหลักฐานอื่นที่จะชี้ชัดว่ามีจุดเริ่มต้นเมื่อไร โดยวิธีการใด และมีพัฒนาการอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา
…..สิ่งที่สะท้อนการรับวัฒนธรรมอินเดียชัดเจนตั้งแต่ครั้งอดีต ได้แก่ วัฒนธรรมความเชื่อที่แสดงออกโดยการก่อสร้างเทวสถาน และศิวลึงค์ไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อบวงสรวงบูชาเวลาประกอบพิธีกรรม เชื่อกันว่าการบูชาศิวลึงค์จะทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ยังพบได้ทั้งในอินเดียปัจจุบัน มีการนับถือผีบรรพบุรุษและเทพเจ้าที่เกี่ยวข้อง กับการกสิกรรม
…..จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวนาในกัมพูชายังคงสวมเสื้อผ้า แบบอินเดีย มีวิถีชีวิตคล้ายชาวอินเดีย เช่น การเปิดข้าวด้วยมือ การเทินของบนศีรษะ การโพกศีรษะและนุ่งผ้าถุง อีกทั้งเครื่องดนตรี เครื่องประดับ วรรณกรรม และตำรับตำราต่างๆ ก็เป็นแบบอินเดีย
…..ฟูนันไม่เพียงเป็นอารยธรรมที่เจริญขึ้นในยุคแรกๆ ราว คริสต์ศตวรรษที่ 1-6 ในดินแดนแถบนี้ แต่ยังถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่ อันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตำนานของฟูนันปรากฏครั้งแรกในบันทึกของข้าราชการจีน รวมทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์กัมพูชาที่เกี่ยวกับฟูนัน ส่วนใหญ่มาจากหลักฐานของชาวจีน เพราะในพื้นที่ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอาณาจักรฟูนันนั้น แทบไม่เหลือร่องรอยใดๆ ไว้ให้ศึกษา นอกจากหลักฐานโบราณคดีชิ้นเล็กๆ และซากปรักหักพังของเมืองออกแล้ว ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองหลวงของฟูนันที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตจังหวัดอันยาง
เหรียญฟูนัน : ร่องรอยเมืองท่ายุคโบราณ
…..ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะนักโบราณคดีได้ขุดค้นซากปรักหักพังของเมืองท่าค้าขายโบราณบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใกล้หมู่บ้านออกแก้วของประเทศเวียดนาม พบเหรียญเงินอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 หรือ 3 รวมทั้งภารชนะเครื่องใช้ของอินเดีย เครื่องประดับ และตราลัญจกร ที่มีอายุในช่วงเดียวกัน
…..นักโบราณคดีสรุปจากที่ตั้งและข้าวของเครื่องใช้ที่พบในบริเวณนี้ว่า พ่อค้าและนักแสวงบุญใช้เมืองท่าแห่งนี้เป็นทางผ่านไปกลับระหว่างจีนกับอินเดียในช่วงต้นคริสตกาล อาจมีโกดังพักสินค้าที่ขนถ่ายข้ามดินแดน รวมทั้งอาจมีของจากฟูนันส่งไปขายที่จีนและอินเดีย
…..เหรียญฟูนัน ด้านหน้ามีตรารูปพระอาทิตย์ ด้านหลังมีรูปศรีวัดสะ (ปราสาท) อยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว ทวีปทั้งสี่ สวัสติกะ และกลองสองหน้า
…..ทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม
…..จีนบันทึกเรื่องของฟูนัน ก็เพราะดินแดนแถบนี้มีการถวายเครื่องราชบรรณาการให้แก่จักรพรรดิจีนเป็นครั้งคราว ระหว่างปีค.ศ. 253-519 รวมทั้งมีศิลาจารึกภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร ในเรื่องเดียวกันนี้อยู่บ้าง แต่ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าฟูนันเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีความเป็นปึกแผ่นหรือไม่ เพราะเป็นไปได้ว่า อาจเป็นแค่การรวมตัวกันของหัวหน้าเผ่าเล็กเผ่าน้อย แล้วส่งเครื่องราชบรรณาการ ให้จีน
…..อย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่าฟูนันมีระบบชลประทานเพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาลุ่ม ขณะที่พื้นที่อื่นๆ มีการปลูกข้าวนาดอน ปลูกเผือก มัน หาของป่า และล่าสัตว์
…..หลังปี ค.ศ. 500 เป็นต้นมา อาณาจักรฟูนันเริ่มเสื่อมอำนาจลง ศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยนมา อยู่ลึกไปในแผ่นดินที่เรียกรวมๆ ว่า เจนละ ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของฟูนัน มีอาณาเขตอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนล่าง ปัจจุบันคือ ดินแดนทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาติดกับตอนใต้ของลาว อาจเป็นไปได้ว่าฟูนันพ่ายแพ้ต่ออำนาจของเจนละ ซึ่งเคยมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของฟูนัน หลังจากนั้น ไม่มีคณะทูตส่งบรรณาการไปยังจีนอีกเลย ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำให้คนรุ่นหลังขาดหลักฐาน ที่เป็นการจดบันทึกของชาวจีนเพื่อใช้ในการศึกษาถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น
…..อย่างไรก็ตาม ในพงศาวดารราชวงศ์ถัง ในช่วงหลังปี ค.ศ. 706 มีการกล่าวถึงเรื่องราวของดินแดนแถบนี้อยู่บ้าง ได้แก่ อาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำ โดยเล่าถึงการแบ่งอาณาจักรออกเป็นสองส่วนทางทิศเหนือและทิศใต้ ที่อาจเรียกเป็นเจนละบนกับเจนละล่าง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปดูเหมือน เจนละบกจะเริ่มมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในคริสต์ศตวรรษที่ 8 พัฒนาขึ้นเป็นอาณาจักรที่มั่งคั่งและเป็นปึกแผ่น จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเจนละ อาจอ้างอิงได้จากการจารึกหลักหนึ่งของชวาที่บันทึกจากคำบอกเล่าของพ่อค้าอาหรับ เกี่ยวกับการที่กษัตริย์เขมรพ่ายแพ้ต่อทัพชวาของมหาราชแห่งราชวงศ์ ไศเลนทร์
…..จากร่องรอยหลักฐานด้านโบราณคดี ศิลปะ และสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของศิลปะเขมรในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน และยังเป็นการบ่งบอกถึงอารยธรรมที่พัฒนาการก้าวหน้า อาทิ อาคารก่อสร้างด้วยหินที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่าที่ใดในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งสร้างขึ้นที่นครอิสานปุระ ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญให้แก่การสร้างอาณาจักรเขมรขึ้นในแถบเมืองพระนครในสมัยต่อมา
สมัยพระนคร
…..เทวราชา
…..จารึกปราสาทสด๊อกก๊อกธม เป็นหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ระบุว่า มีราชาที่ทรงพระนามว่า พรจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสกลกษัตริย์ ซึ่งคำนวณช่วงเวลาแล้ว น่าจะอยู่ในราว ปี ค.ศ. 802 แม้ไม่มีหลักฐานใดที่จะระบุได้ถึงการสืบเชื้อสายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กับราชวงศ์แห่งอาราจักรเจนละในช่วงก่อนหน้า แต่เชื่อว่า พระองค์เสด็จมาจากชวา มีผู้เสนอแนวคิดว่า ครอบครัวของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 คงจะไปตั้งรกรากอยู่ที่ชวา ในช่วงเหตุการณ์ความวุ่นวายในเจนละ และพระองค์อาจถูกราชสำนักไศเลนทร์ยึดตัวไว้เป็นประกัน
…..ความสำคัญของการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 คือ การเปลี่ยนอาณาจักรเขมรจากยุคแว่นแคว้นกระจัดกระจายมาสู่ยุคเทวราชา แห่งสมัยพระนคร โดยมีหลักฐานชี้ชัดว่า การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ มิได้ทรงมีสถานะอย่างปุถุชนคนธรรมดา แต่เป็นผู้มีอำนาจพิเศษที่เกี่ยวพันกับพระศิวะ นั่นหมายถึงว่า พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนความเชื่อของชาวเขมร กษัตริย์องค์ต่อๆ มา และประชาชนจากที่เคยบูชาผีบรรพบุรุษให้หันมายกย่องพระองค์ในฐานะปฐมวิญญาณแห่งบรรพบุรุษในยามที่พระองค์ล่วงลับ
…..พระนคร หรือที่มาจาก คำภาษาสันสกฤตว่า นครา แปลว่า เมืองใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา นักวิชาการกำหนดยุคเมืองพระนคร ในประวัติศาสตร์ว่าอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 802-1431 ที่นี่ไม่ใช่เมืองใหม่ แต่เป็นบริเวณที่มีประชาชนพูดภาษาเขมรอยู่อาศัยมานานหลายร้อยปี ทว่าในช่วงที่อาณาจักรเขมรมีพระนครเป็นศูนย์กลางนับเป็นยุคที่เขมรเรืองอำนาจ และมีอิทธิพลสูงที่สุดในเอเชียอาคเนย์ถือเป็นยุคทองแห่งศิลปวัฒนธรรมเขมร
…..จุดเด่นสำคัญของสมัยพระนคร ได้แก่ ศิลาจารึก ปราสาทหินราชสำนักที่มีลักษณะความเชื่อประเพณีตามแบบอย่างพราหมณ์-ฮินดูและการชลประทานที่มีขอบเขตกว้างขวาง
…..ตรีกรณียกิจ
…..กษัตริย์ที่มีความสำคัญต่อจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้แก่ พรเจ้าอินทรวรมัน ซึ่งครองราชย์โดยการยึดอำนาจจากชัยวรมันที่ 3 โอรสของปฐมกษัตริย์แห่งสมัยพระนคร พระองค์ทรงวางรูปแบบ ตรีกรณียกิจ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่กษัตริย์รุ่นต่อมา ประกอบด้วย
…..1) การสนับสนุนการชลประทาน เป็นตัวแทนของแผ่นดินในการบูชาทวยเทพแห่งลำน้ำ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า บาราย ครอบคลุมเนื้อที่ถึง 2.63 ตารางกิโลเมตร ไว้ใช้เก็บน้ำฝน เพื่อเพิ่มผลผลิตนำส่งให้แก่อาณาจักร พร้อมเป็นการแสดงถึงพระราชอำนาจอันไพศาล
…..2) การยกย่องบิดามารดาและบรรพบุรุษ โดยสร้างเทวรูปประจำตัว คนเหล่านั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้สลักเทวรูปเป็นตัวแทนพระบิดา พระมารดา รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ไว้ในเทวาลัย ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อปราสาทเพรียะโค (Preah Ko) หรือพระโค
…..3) การก่อสร้างเทวาลัยบนภูเขาให้มีรูปทรงพีระมิดขั้นบันได ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อปราสาทบากอง (Bakong) เป็นปราสาทหลังแรกที่ใช้หินก่อสร้างมากกว่าอิฐ โดยพระเจ้าอินทรวรมัน ทรงตั้งใจให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์เองในยามสิ้นพระชนม์
…..กษัตริย์เขมรแทบทุกพระองค์ให้ความสำคัญกับการสร้างปราสาทเพื่อเป็นเทวาลัย แม้ปัจจุบันในประเทศกัมพูชาจะได้ชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งปราสาท แต่นักวิชาการเชื่อว่าปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นบนภูเขาเหล่านี้ยังมีหลายแห่งที่เสียหายตามกาลเวลา เหลือซากปรักหักพังให้เห็นเพียงไม่กี่แห่ง
…..จากการตีความปราสาทที่หลงเหลืออยู่ พอจะบ่งชี้ถึงความเชื่อเกี่ยวกับสร้างปราสาทของกษัตริย์เขมรว่า มาการจำลองเขาพระสุเมรุ ซึ่งตามคติในศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ปราสาทเหล่านี้จึงมีบทบาทเช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ คือเป็นที่สถิตของเทพเจ้า และผู้วายชนม์ ทั้งกษัตริย์และบุคคลสำคัญอื่นๆ นอกจากนี้ ปราสาทยังเป็นที่เก็บพระศพและพระอังคารของกษัตริย์ บางกรณียังใช้ประโยชน์ในการเป็นหอดูดาว
…..ยโศวรมันผู้สร้างพระวิหาร
…..สำหรับคนไทยหลายคน ปราสาทพระวิหารซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา อาจเป็นสิ่งแรกๆ ที่จะนึกถึงเมื่อพูดถึงเพื่อนบ้าน ประเทศนี้ แต่ปราสาทที่สร้างขึ้นบนเนินเขาไม่ได้มีเพียงแห่งเดียว เพราะในสมัยของพระเจ้ายโศวรมัน โอกาสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ครองราชย์ในช่วงปี ค.ศ. 889-910 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทบนทำเลที่เป็นเนินเขาไปทั่วราชอาณาจักร อย่างเช่นเทวาลัยที่ ยอดเขา (พนมกร)
ชนชั้นใน “พระนคร”
…..จากหลักฐานที่รวบรวมได้เชื่อว่า เขมรในยุคพระนครประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีลำดับขั้นสูงต่ำลดหลั่นกันลงไป แต่ไม่ใช่ระบบวรรณะอย่างสังคมอินเดีย
…..กษัตริย์ ได้รับการยกย่องยอมรับจากประชาชน เพราะถือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับพระศิวะ ซึ่งพระศิวะมีบทบาทสำคัญในฐานะวิญญาณแห่งแผ่นดินและบรรพบุรุษ ผู้คนเชื่อว่า พระศิวะและ พระอุมาชายาของพระองค์เป็นเทพและเทวีของทุกสิ่งทุกอย่างใต้พื้นโลก กษัตริย์กัมพูชา ซึ่งมีความ สัมพันธ์กับพระศิวะ จึงถือเป็นองค์อุปถัมภ์การเกษตรที่จะทำให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลและพืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน
…..ผู้ที่รู้ภาษาสันสกฤต การแบ่งระหว่างผู้ที่รู้แต่ภาษาเขมร กับคนที่ใช้ได้ทั้งภาษาเขมร และ สันสกฤต กลายเป็นการกำหนดคนเขมร เป็นพวกที่ต้องทำนากับไม่ต้องทำนา คนกลุ่มนี้มีราว 1 ใน 10 ของคนเขมร เช่น พระญาติพระวงศ์ ทหาร เสมียน ช่างฝีมือ นางสนม เจ้าจอมหม่อมห้าม ศิลปิน ข้าราชการชั้นสูง พระ ฯลฯ
…..ทาส ในภาษาเขมรมีคำว่า ขยม ที่อาจจะแปลว่า ทาส แต่ดูดเหมือนจะมีความหมายกว้างกว่า เพราะจากหลักฐานพบว่า ในสังคมยุคพระนคร มีขยมอยู่อย่างน้อย 14 ประเภท ซึ่งมีฐานะทางสังคมต่างกัน รวมถึงบทบาทหน้าที่ต่างกันออกไป คนเหล่านี้ อาจถูกซื้อขายหรือยกให้กันโดยไม่อาจขัดขืน และคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด
…..ใกล้ทะเลสาบหลวง และภูเขาอีกลูกหนึ่ง (พนมบก) ที่อยู่ไกลออกไป รวมทั้งเทวาลัยองค์ใหญ่บนภูเขาพนมกันดาล (ภูกลาง) ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อพนมบาเก็ง แล้วยังโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระน้ำกว้าง 3 กิโลเมตร ยาว 6.5 กิโลเมตร
…..พระเจ้ายโศวรมันเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง พระราชอำนาจของพระองค์แผ่ไพศาลไปทุกทิศทาง พระเจ้ายโศวรมันโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาสนสถานร้อยแห่ง ด้วยพระประสงค์ที่จะบำเพ็ญกรณียกิจให้ ยิ่งกว่าพระบิดา ขณะที่จารึกปราสาทด๊อกก๊อกธม ระบุว่า พระเจ้ายโศวรมัน “โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครศรียโศธรปุระเป็นนครหลวง” กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พระเจ้ายโศวรมันทรงสามารถเกณฑ์ผู้คนได้มากกว่ากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ไม่ว่าแรงงานเหล่านั้นจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
…..ความยิ่งใหญ่และปริศนาแห่ง “นครวัด”
…..แม้ชาวเขมรจะยึดถือความเชื่อเรื่องเทวราชา แต่ก็ใช่ว่ากษัตริย์ทุกพระองค์จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในหลายรัชสมัยอำนาจของกษัตริย์บางพระองค์ก็อ่อนแอ อาจด้วยบุคลิกภาพส่วนพระองค์และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
…..พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้ถือว่าเป็นกษัตริย์ที่เรืองอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์เขมร อาณาจักรเขมรในรัชสมัยของพระองค์มีความเป็นปึกแผ่นชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหลาย รัชสมัยก่อนหน้านั้น ซึ่งเต็มไปด้วยความแตกแยกปั่นป่วน บางช่วงมีผู้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์พร้อมกัน 2-3 พระองค์
…..ความเข้มแข็งของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เห็นได้จากการขยายอาณาจักรเขมรให้กว้างไกลออกไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา พระองค์รบชนะในดินแดนของพวกจามทางตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเวียดนาม และยังทรงยกทัพไปรบยังดินแดนอันนัมทางตอนเหนือของเวียดนาม รวมถึงดินแดนมอญ ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของไทยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนทางตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู
…..ด้วยศรัทธาที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีต่อพระวิษณุ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทนครวัดอย่างใหญ่โตโอ่อ่า และแหวกขนบของการสร้างเทวาลัยในสมัยนั้น เพื่อบูชาเทพเจ้าและเตรียมเป็นที่สถิตของดวงพระวิญญาณของพระองค์เองเมื่อสิ้นพระชนม์
…..เมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษ 1970 นักวิชาการ ชื่อ เอลินอร์ มอรอน ได้เริ่มศึกษาปราสาทแห่งนี้อย่างละเอียด เพราะเชื่อว่านี่อาจเป็นกุญแจไขรหัสที่ผู้ออกแบบก่อสร้างได้ซ่อนเงื่อนงำบางอย่างไว้ ในที่สุด มอรอนก็ค้นพบตัวเลขที่เป็นสัดส่วนและระยะห่างระหว่างส่วนต่างๆ ของปราสาทและบริเวณโดยรอบ ว่าสัมพันธ์กับยุคสมัยตามความเชื่อของอินเดีย นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ที่ร่วมศึกษาวิจัยค้นพบว่า ที่ตั้งและทิศทางต่างๆ ของเทวาลัย แห่งนี้มีความสัมพันธ์กับมิติของกาลเวลา จนนักวิชาการ มีแนวโน้มจะเชื่อว่าปราสาทนครวัด คือ คัมภีร์ศาสนา
…..การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ ทำให้โลกวิชาการสมัยใหม่เกิดความสนใจในสถาปัตยกรรม ยุคพระนคร ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยความเชื่อ ศรัทธา หรือเพียงต้องการแสดงอำนาจบารมี แต่ยังแฝงไว้ด้วยองค์ความรู้ทางศาสนาและดาราศาสตร์ที่รอคอยการถอดรหัส ไม่เฉพาะแต่ปราสาทนครวัด แต่อาจรวมถึงปราสาทแห่งอื่นๆ ในสมัยพระนคร
…..* ชัยวรมันที่ 7 กับ “พุทธราชา”
…..พุทธศาสนาเริ่มมีอิทธิพลต่อขนบประเพณี และความเชื่อทางศาสนาของเขมรในยุคพระเจ้า ยโศวรมัน มาถึงชัยวรมันที่ 5 แม้พระองค์จะนับถือพระศิวะ แต่ก็ทรงยอมรับพุทธศาสนาที่ เข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกษัตริย์เขมรส่วนใหญ่มีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ บางพระองค์สนใจพุทธศาสนานิกายมหายาน
…..พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสนพระทัยในพุทธศาสนา จึงทรงนำระบบพุทธราชามาปรับใช้ในการปกครองถือเป็นการปฏิวัติความเชื่อเรื่องเทวราชา ที่มีมาแต่เดิม จากที่กษัตริย์เคยสัมพันธ์โดยตรงกับเทพเจ้า และราษฎรก็เชื่อว่า ความสามารถนี้เชื่อมโยงกับฟ้าฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล และความอุดมการณ์มาสู่กษัตริย์ในพุทธศาสนาที่ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง มีจารึกว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนทั่วราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนเห็นว่านี่เป็นความเมตตากรุณาของพระองค์
…..มีการวิเคราะห์ถึงการที่พระเจ้าชัยวรมันไม่สืบสานคติเรื่องเทวราชา จากกษัตริย์องค์ก่อนหน้า อาจเป็นเพราะพระองค์เองไม่ใช่ทายาทอันชอบธรรมแห่งราชบัลลังก์ แต่ครองอำนาจด้วยพระปรีชาสามารถด้านการศึก
…..พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังส่งพระโอรสไปบวชที่ศรีลังกา เพื่อศึกษาศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว พุทธศาสนาในศรีลังกา มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเพิ่มความเข้มงวดในพระวินัจมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อตอบโต้กับอิทธิพลของกลุ่มทมิฬที่ต้องการทำลายพุทธศาสนา ทำให้ช่วงดังกล่าวพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แพร่หลายไปทั่วโลก จากศรีลังกาสู่พม่า ล้านนา อาณาจักรมอญ สุโขทัย ลาว และเขมร
…..หลังจากพระโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จกลับมาถึงเขมรและมีสมณศักดิ์เป็น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ พุทธศาสนานิกายมหายานจึงถูกแทนที่ด้วยเถรวาท งานเขียน รวมถึงศิลาจารึกต่างๆ ในยุคต่อมาใช้ภาษาบาลีแทนภาษาสันสกฤต เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมที่มีการก่อสร้าง วิหาร สถูป เจดีย์ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ขณะที่ปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูค่อยๆ ปรับมาเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา
…..ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า เพราะเหตุใดพุทธศาสนาจึงเผยแผ่อย่างรวดเร็ว ในหมู่ประชาชนธรรมดา แต่พบว่าไม่เพียงชนชั้นนำที่บวชเป็นพระ แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ก็มีการบวชในพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้นด้วย
…..* ยุคมืดของเขมร
…..ด้วยเหตุที่ความรุ่งเรืองของสมัยพระนคร ชี้วัดกันที่การสร้างปราสาท การเขียนจารึกบนแผ่นศิลา การวางระบบชลประทาน รวมถึงราชสำนักตามแบบแผนพราหมณ์-ฮินดู ช่วงปี ค.ศ. 1431-1863 จึงเป็นช่วงเวลาที่ถูกระบุว่าเป็นยุคแห่งความเสื่อมของอาณาจักรเขมร เพราะนอกจากจะขาดหลักฐานที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเจริญและอำนาจอันไพศาลของกษัตริย์ เช่น ในยุคก่อนหน้า ยังเต็มไปด้วยรอยบาดแผลจากการเป็นรัฐกันชนระหว่างสองอาณาจักร ได้แก่ สยามทางด้านตะวันตก และเวียดนามทางด้านตะวันออก
…..ปี ค.ศ. 1353 ทัพสยามบุกเข้าตีและได้ชัยชนะเหนืออาณาจักรเขมรเป็นครั้งแรก ก่อนที่เขมรจะโดนโจมตีซ้ำอีกครั้งในปี ค.ศ. 1431 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่มีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ตั้งแต่เมือง ละแวก ไปที่เมืองอุดง ก่อนจะมาปักหลักที่เมืองพนมเปญ ในปี ค.ศ. 1437 ซึ่งจะว่าไปแล้ว เป็นทำเลที่เอื้อต่อการควบคุมเส้นทางการค้าทางน้ำมากกว่า โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากจีน ผ่านทางอาณาจักรลาว เพราะเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำซาป และแม่น้ำบาซัก ที่สำคัญพนมเปญอยู่ห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยา จึงน่าจะปลอดภัยกว่าทำเลเดิม ถือเป็นการเปลี่ยนสังคมเขมรจากที่มีศูนย์กลางเป็นดินแดนตอนในที่ใช้เพื่อการทำนาปลูกข้าว มายังริมฝั่งแม่น้ำที่มุ่งค้าขายเป็นหลัก
…..อย่างไรก็ตาม ในช่วง 200 ปี ต่อมาอาณาจักรเขมรต้องทำสงครามกับราชสำนักอยุธยาหลายครั้ง แม้จะได้ชัยชนะเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้เขมรตกเป็นเมืองขึ้นของ
กรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกันชาวเวียดนามได้เริ่มอพยพเข้ามายังเขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งมีชาวเขมร ตั้งรกรากอยู่อย่างหนาแน่นมาก่อนหน้านี้ เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้มาใหม่เพิ่มจำนวน ขึ้นจนมากกว่าผู้ที่อยู่มาก่อนถึงสิบเท่า
…..กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สยามพ่ายแพ้ต่อทัพพม่าที่ยกมาตี ทำให้ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งราชวงศ์จักรี ยิ่งทำให้สยามทรงอิทธิพลเหนือแว่นแคว้นต่างๆ ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
…..พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยึดนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยการแบ่งแยกและปกครอง ทั้งหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาว ไล่มาถึงเวียงจันทน์ และจำปาสักทางตอนใต้ นครพนมทางอีสาน และกัมพูชาทางตะวันออก แม้จะอนุญาตให้คาบสมุทรมลายู สามารถปกครองตนเอง แต่ไม่มีดินแดนใดมีกำลังเพียงพอที่จะแข็งข้อต่อกรกับสยามในยุคนั้น
…..อิทธิพลของสยามแผ่ขยายเข้าไปในชีวิตประจำวันของคนเขมร มีนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นถึงจุดสูงสุดของอิทธิพลสยามในเขมร คือ การที่ภาษาไทยได้เข้าแทนที่โครงสร้างประโยคแบบเมือง พระนคร ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นผลเสียต่อเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะผลกระทบต่อวรรณกรรมในยุคต่อมา
…..ขณะที่ทางตะวันตกเขมรถูกบีบด้วยอิทธิพลจากสยาม หันไปทางตะวันออก ก็ต้องพบกับแรงกดดันจากเวียดนาม จนจักรพรรดิเวียดนามเคยมีพระราชดำรัสว่า เขมรได้กลายเป็น “ประเทศเอกราชที่เป็นทาสของมหาอำนาจทั้งสอง” เพราะอาณาจักรเขมรถูกรุกราน และยึดครองครั้งแล้วครั้งเล่า โดยกองทัพสยามและเวียดนาม
…..เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับกษัตริย์เขมรที่ต้องครองราชย์บัลลังก์ในสถานการณ์ที่เป็นรองประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน กษัตริย์เขมรบางยุคจึงหันมาใกล้ชิดราชวงศ์สยามเพื่อถ่วงดุลฝ่ายเวียดนาม ขณะที่บางพระองค์ก็เลือกเอาใจฝักใฝ่กับราชสำนักเว้ สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ฝ่ายสยาม อย่างไรก็ตามการขาดอำนาจเด็ดขาดที่จะชี้ความเป็นไปของบ้านเมือง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้อยู่ในตำแหน่งกษัตริย์ นักวิชาการบางรายวิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการขยายอำนาจของไทยและเวียดนาม ทำให้ความน่าศรัทธายำเกรงของกษัตริย์เขมรในสายตาประชาชนลดน้อยลง
…..ขณะเดียวกันการยกตนขึ้นเป็นใหญ่เหนือดินแดนและประชาชนชาวเขมรของจักรพรรดิมินห์หม่างแห่งเวียดนาม ก็สร้างความเจ็บแค้นและความรู้สึกเป็นปรปักษ์ให้เกิดแก่คนเขมร โดยเฉพาะนโยบายเปลี่ยนเขมรให้เป็นเวียดนาม ซึ่งมีทั้งการส่งคนเวียดนามเข้าปกครองคล้ายรูปแบบอาณานิคม การบังคับให้คนเขมรใช้ภาษาเวียดนาม รวมไปถึงการเกณฑ์กำลังคน ตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มปรากฏการต่อต้าน โดยการก่อกบฏ ซึ่งเวียดนามตอบโต้ด้วยการส่งทหารรับจ้างชาวจามมาปราบปราม
…..การปรากฏตัวของชาติตะวันตกในภูมิภาคแถบนี้ในยุคล่าอาณานิคม เท่ากับเป็นการเปลี่ยนดุลอำนาจในเอเชียอาคเนย์ และสำหรับประเทศเล็กๆ ที่ต้องรักษาตัวรอดท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านที่มีกำลังเหนือกว่ามาตลอดหลายร้อยปี ยิ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และชวนให้ติดตามถึงก้าวต่อไปที่ไม่มีวันเหมือนเดิมของอาณาจักรเขมร ซึ่งความรุ่งเรืองได้กลายเป็นเพียงอดีตที่ผ่านพ้นไปแสนนาน

บทความอื่นๆ